iCreatorNewsPodcastSocial

Avatar

doyoumind February 15, 2021

iCreator Clubhouse: วงการ Podcast สะเทือนไหม เมื่อมี Clubhouse

กำลังเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง จนมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กับ ‘Clubhouse’ แอปพลิเคชันสร้างห้องสนทนาผ่านเสียง ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าแอปพลิเคชันนี้มีความคล้ายกับพอดแคสต์ แต่ต่างกันตรงความสดใหม่แบบเรียลไทม์ นั่นเอง เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา RAiNMaker เลยเชิญเหล่ากูรูวงการพอดแคสต์ ทั้งคุณโจ้-นทธัญ แสงไชย และคุณธัญ-ธัญวัฒน์ อิพภูดม จาก Salmon Podcast และคุณแซม-พลสัน นกน่วม จาก GetTalks มานั่งคุยถึงประเด็นนี้กันซะเลยว่าเจ้า Clubhouse จะส่งผลอะไรกับวงการพอดแคสต์บ้าง

ภาพรวมของวงการพอดแคสต์ในไทย?

ก่อนจะพูดถึง Clubhouse ต้องขอเกริ่นถึงวงการพอดแคสต์ในไทยกันก่อน ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันภาพรวมของวงการพอดแคสต์เปลี่ยนไปยังไงบ้าง ซึ่งทั้งคุณโจ้และคุณธัญได้พูดไว้ว่า วงการพอดแคสต์ไทยเติบโตขึ้นเยอะมาก มีทั้งผู้จัดและผู้ฟังมากขึ้นกว่าตอนแรก จนทำให้หลายแบรนด์เองก็เลือกมาทำการตลาดบนพอดแคสต์มากขึ้น จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พอดแคสต์สามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ได้จริง

คุณธัญเสริมว่าการทำพอดแคสต์สามารถต่อยอดได้มากกว่าที่ทุกคนคิด สามารถเป็นได้มากกว่าคอนเทนต์เสียง เช่น การคุมธีมคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มอื่นๆ ให้เป็นไปทางเดียวกันกับหัวข้อในพอดแคสต์ เหมือนกับกรณีของ Untitled Case ที่สามารถต่อยอดออกไปเป็นอีเวนต์หรือหนังสือได้ เป็นต้น

ด้านคุณแซมในฐานะของคนจัดรายการพอดแคสต์ยุคแรกๆ ก็บอกว่าตอนแรกดูไม่ออกว่าพอดแคสต์จะสามารถเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ยังไง เพราะเดิมทีมีผู้จัดและผู้ฟังแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เริ่มจับจุดได้ ทำให้มีผู้จัดและผู้ฟังมากขึ้น ก็เริ่มมองเห็นโมเดลในการทำธุรกิจเพื่อหารายได้จากมัน เช่น การทำ Adverterial หรืออีเวนต์เพื่อต่อยอด ซึ่งจริงๆ แล้วพอดแคสต์เป็นอะไรก็ได้อยู่ที่จะจับไปรวมกับอะไรมากกว่า

Podcast VS Clubhouse คู่แข่งคู่ใหม่?

หลังจากลองใช้คลับเฮาส์มาระยะนึง ในมุมมองของคุณโจ้และคุณธัญไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง แต่ด้วยความที่ทั้งสองแพลตฟอร์มมีฟังก์ชันบางอย่างที่ทับซ้อนกันโดยเฉพาะการทำคอนเทนต์เสียงเป็นหลัก แต่จุดเด่นของตัวคลับเฮาส์คือความเรียลไทม์และความ exclusive ที่มากกว่าเลยทำให้คนสนใจและไม่อยากที่จะพลาดคอนเทนต์เหล่านั้นไป เลยไม่แปลกที่จะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่โดยรวมแล้วก็ยังมองว่าคลับเฮาส์สามารถเป็นตัวเสริมให้กับพอดแคสต์ได้ เช่น ผู้จัดที่มีรายการอยู่บนพอดแคสต์อยู่แล้ว อาจใช้คลับเฮาส์เป็นตัวช่วยในการเพิ่มความใกล้ชิดกับผู้ฟังมากขึ้น โดยการชวนคุยถึงประเด็นต่างๆ เพื่อเสริมกับตัวรายการหลักฝนพอดแคสต์ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ใช้งานคลับเฮาส์มักจะสนใจในเรื่องของประเด็นที่คนจะสื่อสารมากกว่า และจะไม่เน้นเสพคอนเทนต์ที่หนักเกินไป ซึ่งการที่สามารถพูดคุยกันแบบเป็นกันเองนี้ทำให้การพูดคุยบนคลับเฮาส์ไร้ข้อจำกัดมากกว่าบนพอดแคสต์

ส่วนมากการพูดคุยจะค่อนข้างลดความเป็นทางการลงในระดับนึง เหมือนเป็นการถอดตัวตนทางสังคม และเป็นอิสระมากขึ้น เนื่องจากคนที่มาพูดคุยกันมักจะเป็นคนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน เหมือนเป็นการรวมคอมมูนิตี้ของคนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันไว้ด้วยกันนั่นเอง เพียงแต่สิ่งที่น่ากลัวของคลับเฮาส์คือความเรียลไทม์ ที่ทำให้คนกลัวว่าจะพลาดคอนเทนต์ ในขณะที่พอดแคสต์เป็นรูปแบบ anywhere anytime ที่จะสามารถฟังเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ เลยทำให้ความสดใหม่เป็นจุดเด่นที่น่าสนใจของคลับเฮาส์นั่นเอง

ในอนาคตคิดว่าแบรนด์จะมอง Clubhouse เป็นอีกหนึ่งช่องทางมั้ย?

คุณแซมบอกว่าด้วยความเป็นกันเองจากการใช้เสียงในการสื่อสาร จะทำให้การจัดรายการง่ายขึ้น การสร้างรายการผ่านคอนเทนต์เสียงไปคุยกับลูกค้า จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงน้ำเสียงที่ดูเป็นมิตรเหมือนเป็นการเล่าเรื่องจากแบรนด์โดยตรง ทำให้มีโอกาสในการสร้างความรับรู้และความประทับใจได้ดีกว่า และนี่คือเสน่ห์ของเสียง ถ้าถามว่าแบรนด์จะทำอะไรบนคลับเฮาส์ได้บ้าง แนวโน้มที่สามารถทำได้ คือ การทำอะไรที่คล้ายกับการจัดอีเวนต์ เช่น จัดงานเสวนา เป็นต้น

คิดว่าหลังจากนี้ Podcast และ Clubhouse จะเป็นยังไงต่อ?

คุณโจ้บอกว่าไม่ต้องรอให้ผ่านไป 2-3 เดือน แต่คิดว่าอาทิตย์หน้าก็น่าจะมีอะไรสนุกๆ ที่คาดไม่ถึงให้ได้ดูกัน เช่น ตอนนี้ก็มีการจัด Stand-up Comedy และประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย และด้วยความที่คลับเฮาส์เป็นอะไรที่เรียลไทม์ ไม่เหมือนพอดแคสต์ที่ต้องรอฟีดแบ็กของผู้ฟังอีกที จุดนี้ก็น่าจะเป็นตัวเสริมที่ส่งผลต่อวงการพอดแคสต์ในระดับนึง คุณโจ้ยังเพิ่มเติมอีกว่าในอนาคตอยากเห็นคนไทยใช้และเข้าใจเสียงมากขึ้น

คุณโจ้ยังเสริมถึงประเด็นด้านของ Influencer ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทในคลับเฮาส์มากขึ้นหลังจากนี้ ก็น่าจะส่งผลให้ห้องไหนที่มี Influencer อยู่ ห้องนั้นก็อาจได้รับความสนใจหรือมีผู้ฟังมากเป็นพิเศษนั่นเอง ด้านคุณธัญบอกว่าจากที่สังเกตพบว่าผู้ใช้งานคลับเฮาส์จะคึกคักมากขึ้นตอนช่วงกลางคืน เลยอยากรู้ว่าถ้าทดลองใช้ในช่วงเวลากลางวันหรือในช่วงเวลางานมากขึ้นจะเป็นอย่างไร

ส่วนคุณแซมมองเห็นว่าคนที่มีฐานผู้ติดตามเยอะจะได้เปรียบกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ยังไม่มีผู้ติดตามและต้องเริ่มสร้างฐานแฟนคลับใหม่ ซึ่งจะยากต่อการทำคอนเทนต์มากขึ้น แต่ถ้าสามารถทำคอนเทนต์หรือพูดถึงประเด็นที่คนสนใจก็มีโอกาสที่จะเติบโตได้ อย่างตนเองไปเจอห้องเกี่ยวกับโหราศาสตร์ ที่คนค่อนข้างให้ความสนใจในปัจจุบัน ก็เห็นว่ามีคนเข้าไปฟังเยอะมาก

นอกจากนี้ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของคลับเฮาส์ ในการที่ให้เราสามารถดึงคนขึ้นมาร่วมเป็นสปีกเกอร์ด้วยกันได้ ยังทำให้เราได้มีโอกาสสอบถามความคิดเห็นของ คุณเก่ง-สิทธิพงศ์​ ศิริมาศเกษม ผู้จัดงาน Creative Talk และคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง เกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

โดยคุณเก่งบอกว่าตอนนี้คลับเฮาส์ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานนานกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ และสังเกตเห็นว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และคนที่เป็น Moderator มักจะเป็นระดับ C-level กันซะส่วนมาก สิ่งที่น่าสนใจหลังจากนี้เลยคือเมื่อแอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้มากขึ้น ทำให้มีผู้ใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงทุกคนจะยังมีเวลาในการสร้างห้องเพื่อพูดคุยแบบนี้มากขึ้นเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ ช่วงนี้คอนเทนต์แนวงานสัมมนาก็ค่อนข้างเยอะ ต้องรอดูกันต่อไปว่าในอนาคตแนวทางจะเป็นยังไงต่อ

คุณแอนยังเข้ามาเสริมว่าตอนนี้คลับเฮาส์เปรียบเสมือนปรากฏการณ์บิ๊กแบงที่กำลังสร้างโลก หลังจากนี้ก็น่าจะเห็นอะไรหลากหลายมากขึ้น เริ่มแรกมันบูมกับคนในระดับสูงก่อน ต่อไปมันก็จะเติบโตไปที่คนกลุ่มธรรมดามากขึ้น อีกไม่นานก็น่าจะเห็นการใช้งานแบบปกติ

และวงการพอดแคสต์จะไม่สะเทือนแน่นอน เพราะรูปแบบของการมีส่วนร่วมต่างกันเลย พอดแคสต์คือการฟังที่ตัดทุกอย่างออกหมด ในขณะที่คลับเฮาส์มีปฏิสัมพันธ์มากกว่า เหมือนอีเวนต์หรืองานสัมมนาที่เมื่อจบก็สามารถไปห้องอื่นได้ ทำให้เสพติดมากๆ แล้วมันก็จะเกิดการเหนื่อย ซึ่งต่างจากพอดแคสต์ที่จะฟังตอนไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นหลังจากเวลาผ่านไปแล้วก็จะเห็นว่าจุดเด่นที่แท้จริงของคลับเฮาส์คืออะไร

ในส่วนของคุณจอมขวัญก็ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะผู้ใช้งานว่าชอบที่แอปพลิเคชันช่วยลดระยะห่างระหว่างผู้จัดและผู้ฟังได้ โดยเฉพาะถ้าใครชอบความรู้สึกตอนฟังวิทยุที่จะมานั่งรอฟังเรื่องราวที่เราสนใจแบบเรียลไทม์ แต่คลับเฮาส์จะสามารถให้ได้มากกว่านั้นตรงที่เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้จัดได้โดยตรง

อีกอย่างในฐานะผู้จัดรายการทอล์กคิดว่าคลับเฮาส์เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างโทรทัศน์กับพอดแคสต์ การจะจัดรายการบนคลับเฮาส์สะดวกตรงที่ไม่ต้องเตรียมตัวเรื่องเทคนิคและเสื้อผ้าหน้าผมมากมายก็สามารถมาพูดคุยกับทุกคนได้เลย รวมถึงทำให้ภาระบางอย่างในการระวังตัวเองน้อยลง พอใช้แต่เสียงมันทำให้ห่วงอย่างอื่นน้อยลง แต่ไม่ใช่ว่าไม่ระวังแบบปล่อยตัวเลย มันเป็นความรู้สึกที่รู้สึกสบายใจและน่าคุยมากกว่า

และนี่ก็เป็นความคิดเห็นของเหล่าผู้จัดรายการพอดแคสต์ และผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการทำงานเกี่ยวกับการใช้เสียงที่มีต่อทั้งวงการพอดแคสต์และคลับเฮาส์ ซึ่งแนวทางต่อไปของทั้งสองแพลตฟอร์มก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูว่าจะเป็นคู่แข่งกันหรือจะสามารถเป็นตัวเสริมกันได้จริงๆ อย่างที่เหล่าสปีกเกอร์กล่าวไว้

อย่าลืมติดตาม @khajochi บนคลับเฮาส์เพื่อคอยติดตามว่าในครั้งหน้า RAiNMaker จะยกประเด็นอะไร และเชิญสปีกเกอร์คนไหนมาร่วมถกประเด็นอีก ฟอลโลว์ไว้จะได้ไม่พลาดนะคะ!

 

 

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save