JournalismSocialTips

Avatar

Nutn0n September 30, 2018

ศิลปะแห่งการก็อป ทำความเข้าใจปรัชญาของการขโมยงานที่คนทำคอนเทนต์ต้องเจอ

ไม่มี Content Creator คนไหนชอบโดนก็อปงาน อันนี้เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว แต่โลกออนไลน์ของเรานั้นการโดนก็อปงานช่างทำได้ง่ายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเนื่องมาจากการเข้าถึงที่ง่ายและเครื่องมือสำหรับการค้นหาต่าง ๆ แล้วในทางสังคมเรามีการอธิบายพฤติกรรมการก็อปงานว่าอย่างไร สรุปแล้วการก็อปงานผิดหรือไม่ แล้วคนที่ก็อปงานเราไปเขามีวิธีการคิดแบบใด วันนี้ทีมงาน RAiNMAKER จะพาทุกท่านเข้าสู่โลกแห่ง Plagiarism หรือศาสตร์ว่าด้วยการขโมยผลงาน

สุดท้ายสิ่งที่เราคาดหวังว่าทุกคนจะได้รับจากบทความนี้ก็คือเราจะทำความเข้าใจเรื่องราวของการก็อปงาน และสามารถรับมือกับมันได้อย่างเหมาะสม หลายอย่างอาจจะไม่ได้กล่าวถึง Soulution หรือวิธีการแก้ปัญหาซะทีเดียว แต่การเข้าใจถึงปัญหาก็จะช่วยให้เรามองภาพรวมออกมากยิ่งขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับงานของเราที่ถูกขโมยไป

Good artist copy, Great artist steal

สุดท้ายแล้วทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีที่มาที่ไป รวมถึงผลงานต่าง ๆ ด้วย Pablo Picasso เคยกล่าวไว้ว่า “Good artist borrow, great artist steal” ความหมายของมันถ้าจะให้ตีความก็คือ ศิลปินที่ดียืมผลงานมาจากคนอื่น สุดท้ายคนก็รู้อยู่ดีว่ามาจากที่ไหน แต่ศิลปินที่เก่งกาจจริง ๆ นั้น นำแรงบันดาลใจ ผลงาน และแนวคิด มาเป็นของตัวเองได้อย่างแนบเนียนจนดูไม่รู้ว่าเป็นของใครมาก่อน ภายหลัง Steve Jobs นำคำพูดนี้มาปรับให้เข้าใจว่ายขึ้นว่า “Good artist copy, great artist steal”

Content Creator ทุกคนเชื่อว่าล้วนแล้วมีแบบอย่างทั้งสิ้น อาจจะเป็นนักเขียน, YouTuber, Blogger สุดท้ายแล้ว อยู่ที่เราว่าเราจะเลือก Copy ที่ใคร ๆ ก็ดูออกว่ามาจากใคร หรือเลือกจะ Steal หรือนำทักษะหรือวิธีคิดนั้นมาเป็นของตัวเองโดยถาวร

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ผมได้เชิญเว็บไซต์เว็บหนึ่งที่พบว่ามีการคัดลอกผลงานของเว็บไซต์ที่ผมเป็นบรรณาธิการอยู่ไปลงไปทานข้าว (ซึ่งชาวเน็ตก็เข้ามาฮากัน) หลังจากนั้นก็ได้เขียนบทความที่ชื่อว่า ก็อป วาง แล้วให้เครดิต แบบนี้ผิดหรือไม่ ไขข้อสงสัยคนทำคอนเทนต์ออนไลน์

สุดท้ายสรุปออกมาว่า ถ้างานของเราเป็นเพียงแค่การคัดลอกเนื้อหาของคนอื่น แบบนั้นก็แสดงว่าความสามารถของเรามีแค่นั้นจริง ๆ การจะเป็นคนทำคอนเทนต์ที่เก่งนั้น อาศัยการฝึกฝน และเทคนิคต่าง ๆ ก็เกิดจากประสบการณ์เช่นกัน ถ้าอยากเป็นคนทำคอนเทนต์ที่เก่ง เริ่มต้นฝึกฝนด้วยตัวเองวันนี้ยังไม่สาย

Plagiarism ศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการขโมยผลงาน

เว็บไซต์ Wikipedia ได้เขียนความหมายของคำว่า Plagiarism ไว้ว่า  “wrongful appropriation” และ “stealing and publication” คือการนำผลงานอื่นมาเป็นของตัวเอง หรือการขโมยผลงาน คำนี้ถูกใช้มากในวงการการศึกษา (เช่นการทำงานวิจัย หรือการเขียนงานทางวิชาการ) แต่ก็นับว่าเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญของวงการ Media and Journalism ทั้ง Online และ Offline เช่นกัน

อีกหนึ่งนิยามที่เหมือนจะชัดเจนที่สุดของการ Plagiarism นั้นอธิบายในแง่ของเจตนา ว่า “เป็นความพยายามในการให้ผู้อื่นเข้าใจว่าผลงานนี้เป็นของตัวเอง”

ในปี 2005 Turnitin ได้ทำการสำรวจกับนักเรียนและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ว่าพวกเขามีพฤติกรรมใดที่เป็นไปในเชิง Plagiarism บ้าง โดยสามารถสรุปรวม ๆ ออกมาได้ดังนี้

  • เอางานของคนอื่น (ที่คนอื่นทำ เขียน หรือถ่าย) มาบอกว่าเป็นงานของตัวเอง
  • นำงานของคนอื่นมา Re-write, อ้างอิง แต่ไม่ได้ให้แหล่งอ้างอิงที่ละเอียดพอ
  • ก็อปงานจากหลาย ๆ แห่งมาผสมกัน แล้วบอกว่าเป็นงานตัวเอง จนทั้งงานแทบจะเป็นไอเดียของคนอื่นหมดเลย
  • เขียน อ้างอิงที่มาแบบแปลก ๆ เช่น มาจาก Google, มาจาก YouTube

ดังนั้นอย่างที่บอกไปว่า จะก็อป จะขโมยหรือจะอะไรก็ตาม หลัก ๆ แล้วขึ้นอยู่กับเจตนา

มีเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องคือ การก็อปผลงานของตัวเองป็นว่าเป็น Plagiarism ในแบบ Self-Plagiarism เช่น Redundant publication คือการเอางานที่เผยแพร่แล้วมาเผยแพร่อีก แบบแก้แค่นิดหน่อย หรือเอามาเป็นบทใหม่ หรือแก้เพื่อลงในแหล่งอื่น หรือ การนำมาหั่น นำมาย่อ แล้วเอาไปทำเป็นหลาย ๆ ผลงาน ซึ่งในเชิง Publishing อาจจะไม่ได้จริงจังเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นในเชิงวิชาการจะมีความจริงจังมากขึ้น เนื่องจากใช้ในการเลื่อนวิทยฐานะ

เหตุผลที่การขโมยงานไม่หมดไปซักที

ได้มีบทความในเว็บไซต์ Plagiarismtoday.com พยายามอธิบาย 5 เหตุผลที่การขโมยผลงานยังไม่หมดไป หลัก ๆ ดังนี้

  • Publisher หรือ Content Creator มองว่าไม่คุ้มค่าที่จะจัดการกับมัน ก็อปก็ก็อปไป ไม่มีเงินจะฟ้อง เสียเวลา นี่คือสิ่งที่หลาย ๆ คนคิด ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องจริง การที่เราเอาเวลาในการทำคอนเทนต์ไปนั่งพยายามดูว่ามีใครก็อปเราบ้างนั้น อาจเป็นการใช้เวลาที่ไม่คุ้มค่า บางคนอาจจะบอกว่าฟ้องแล้วได้เงินนะ แต่ลองนึกถึง Process ต่าง ๆ กว่าจะฟ้องแล้วได้เงิน แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว สุดท้ายถ้าไม่ใช่เป็นกรณีใหญ่ ๆ จริง ๆ Content Creator อาจจะแค่เข้าไปตักเตือน หรือชวนไปกินข้าวอย่างที่ผมทำ
  • ในวงการ Publishing ขนาดใหญ่ที่มี นักเขียน กับ บรรณาธิการแยกกัน การที่จะให้บรรณาธิการเพิ่มขั้นตอนในการตรวจว่าไปก็อปใครมาหรือเปล่า อาจจะไม่เป็นการดีต่อความสัมพันธ์ สุดท้าย Plagiarism Today บอกว่า ความสัมพันธ์มันจะอารมณ์ประมาณคุณครูกับนักเรียน คือครูก็รู้แหละว่านักเรียนก็อปมาจากเน็ต แต่ก็แกล้งทำเป็นไม่เห็นไป
  • นักเขียน Freelance มีเยอะขึ้น ควบคุมยาก ทุกวันนี้หลาย ๆ เว็บอาจจะมีนักเขียนประจำไม่มาก แต่จะเน้นมี Freelance ที่อาจจะเขียนหลาย ๆ เว็บเข้ามาเป็นนักเขียนหรือคอลัมนิสต์แทน โครงสร้างแบบนี้ทำให้เกิดการ Plagiarism เยอะขึ้น (โดยเฉพาะ Self-Plagiarism) บางเว็บโดยเฉพาะเว็บข่าว มีนักข่าวที่เรียกว่า “ข่าวออนไลน์” ซึ่งเน้นความไวเป็นหลัก ทำให้ขาดการคัดกรองเนื้อหาที่จะ Publish ออกไป สุดท้ายกลายเป็นว่า องค์กรใหญ่ ๆ กลับมีพฤติกรรมการ Plagiarism มากกว่า เว็บเล็ก ๆ ที่ไม่ดังมากด้วยซ้ำ
  • การป้องกันไม่ให้เกิด Plagiarism บางทีก็เป็นการฝืนต่อวิธีปฏิบัติเดิม ๆ เช่น การ Recycle บทความ, การตัดบางส่วนของนักเขียนคนนี้ มาเป็นของนักเขีนนคนนี้ หรือแม้กระทั่งการก็อปข้อความบางส่วนจาก Press Release
  • “ก็ไม่ได้เดือดร้อนนิ” หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัว Creator เอง, คนอ่าน หรือ Publisher บางคนไม่ได้มองว่าการขโมยงานเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย สุดท้ายก็ไม่มีใครลุกมาแก้ปัญหาจริง ๆ

ทั้งหมดนี้ อาจจะไม่ได้บ่งบอกว่า การขโมยผลงานนั้นผิดหรือไม่ผิด ซึ่งบทสรุปก็คงจะคล้าย ๆ กับในบทความก่อนหน้านี้ที่บอกว่า ถ้างานของเราเป็นเพียงแค่การคัดลอกเนื้อหาของคนอื่น แปลว่าความสามารถของเรามีแค่นั้นจริง ๆ คำถามว่า ระดับไหนถึงเรียกว่า การขโมย, การก็อปผลงาน แล้วการทำแบบนู้นแบบนี้ผิดไหม เราอาจจะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำกับการคัดลอก แต่สุดท้ายก็เหมือนที่ Pablo Picasso บอกไว้ว่า ถ้าเรายังเลือกที่จะ Copy สุดท้ายเราก็เป็นได้แค่ Good Artist

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

อ้างอิง

Plagiarism – Chulalongkorn University

5 Reasons Journalism Still Struggles with Plagiarism – Plagiarism Today

An Artist Explains What “Great Artists Steal” Really Means – Life Hacker

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save