สรุปปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม

24 มีนาคม หลังจากการอยู่ภายใต้อำนาจของเผด็จการมานานกว่า 5 ปี ในที่สุดประเทศไทยก็ได้จัดการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2557 การเลือกตั้งครั้งนี้มีนัยสำคัญอยู่ตรงที่ถูกมองว่าเป็นการสู้กันระหว่างเสียงของผู้สนับสนุนเผด็จการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับเสียงของฝ่ายประชาธิปไตย

วันนี้ทีมงาน RAiNMAKER จะมาลองสรุปภาพรวมของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นลากยาวมาตั้งแต่ช่วงวันก่อนเลือกตั้ง มาจนถึงวันที่ 24 มีนาคมนี้ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วสื่อออนไลน์มีวิธีการเข้ามา “ได้ซีน” ในช่วงที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของประเทศไทยในช่วงนี้อย่างไร

ก่อนหน้าวันเลือกตั้ง เมื่อออนไลน์กลายเป็นสนามที่น่าจับตามอง

ก่อนหน้าการเลือกตั้งในครั้งนี้ในทางของฝั่งโลกออนไลน์ ก็มีกระแสต่าง ๆ ปรากฎให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน ตั้งแต่ “ประเทศกูมี” รายการทางออนไลน์ที่ดุเด็ดเผ็ดมัน “หาเรื่อง” ของคุณ จอห์น วิญญู เจ้าเก่า หรือการทำผลงานบนโลกโซเชียลของทั้งทางฝั่งพรรคเอง ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ที่ทางประชาธิปัตย์เองมาซื้อโฆษณาในช่วงเกือบโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งว่า คุณอภิสิทธ์ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือกระแสจากฝั่งชาวเน็ต “ฟ้ารักพ่อ” ทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นสนามที่น่าจับตามองแห่งหนึ่ง

นอกจากนี้กระแสในเรื่องของการดีเบตในเวทีต่าง ๆ ตั้งแต่ไทยรัฐ ไปจนถึง The Standard ยังทำให้เกิดบทสนทนาต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย จนถึงแทบจะวินาทีสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง กระแส “โตแล้วเลือกเองได้” ในช่วงค่ำคืนก่อนวันเลือกตั้งก็พุ่งทะยานขึ้นมาเป็น Trend Twitter อันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปรากฎการณ์เสียงจากโลกโซเชียลที่ดังทะลุเสียงหมาหอนในคืนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งกันเลยทีเดียว

จับตาปรากฎการณ์บนโลกออนไลน์วันเลือกตั้ง

ปกติแล้วในวันเลือกตั้ง เราจะได้เห็นสื่อต่าง ๆ เข้ามาทำหน้าที่รายงานกันแบบ Realtime โดยเฉพาะช่อง TV ที่จะส่งนักข่าวไปประจำตามจุดต่างๆ และรายงานสถานการกันแบบสด ๆ ซึ่งในครั้งนี้ เราได้เห็นสำนักข่าว The Standard สำนักข่าวที่เป็นสื่อใหม่และประกาศตัวเป็นสำนักข่าวเต็มรูปแบบจัด Live ผ่านทาง YouTube และ Facebook รายงานสถานการการเลือกตั้งแบบสด ๆ ไม่ต่างไปจากช่อง TV ที่เราเห็นกันในการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ

ในขณะที่สื่อออนไลน์อื่น ๆ ที่เราอาจจะหยิบยกมาพูดถึงกันก่อนหน้านี้แล้วก็ทำหน้าที่ของตัวเองในการสร้างความรู้ แม้กระทั่งทาง Platform เองอย่าง YouTube และ Facebook ก็ยังเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทาง YouTube ได้รวบรวม Live จากช่อง TV ต่าง ๆ ที่รายงานการเลือกตั้งไว้ในหมวดหมู่เดียวกันให้เราสามารถเลือกดูได้บนหน้าเว็บไซต์

ในขณะที่ Facebook ก็ได้มีช่องแสดง Status พิเศษ เชิญชวนให้คนมาแชร์ประสบการณ์หรือพูดถึงการเลือกตั้งครั้งนี้บนหน้า Timeline แถมยังมีลิ้งค์ให้กดไปยังหน้าเว็บที่ใช้เช็คหน่วยเลือกตั้งด้วย หรือทาง Google ซึ่งปกติก็จะมีการเปลี่ยนรูปในหน้าแรกให้ล้อไปตามสถานการต่าง ๆ ในครั้งนี้ก็เปลี่ยนเป็นรูปกล่องลงคะแนนเสียงเช่นกัน

ส่วนบน Twitter นั้นไม่หวือหวามาก เราพบว่าทางช่อง TNN มีการซื้อ #TNNช่อง16 เพื่อให้ขึ้นเป็น Trend ด้วย ส่วน Trend อื่น ๆ เมื่อดูจากช่วงเที่ยงของวันที่ 24 ซึ่งการเลือกตั้งก็ยังดำเนินอยู่เรื่อย ๆ #ThailandElection2019 นั้นอยู่ที่อันดับหนึ่ง ตามมาด้วย #เลือกตั้ง62 ส่วน #โตแล้วเลือกเองได้ ยังคงได้รับความนิยมและมีการสนทนาอยู่พอสมควร

สื่อใหม่ทำหน้าที่ The MATTER, The Standard, The Momentum

อีกสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ 3 สื่อใหญ่ตระกูล The ที่เข้ามามีบทบาทในโลกออนไลน์เมืองไทยในช่วง 2 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมาตั้งแต่ The Momentum, The MATTER และ The Standard ที่ต่างเข้ามาช่วยเป็นสื่อรายงานการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย

ทางด้านของ The MATTER นั้นอย่างที่เรารู้กันดีว่ามีการเปิดเว็บไซต์ Elect.in.th ร่วมกับ Boonme Lab เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้งทาง Elect.in.th ก็ยังได้มีระบบดูผลการเลือกตั้งซึ่งจะออนไลน์ทันทีเมื่อปิดหีบ เป็นหน้า UI แสดงผลออกมาได้สวยงามเข้าใจง่าย

ทาง The Standard นอกจากการรายงานสดแล้วก็ยังมี Dashboard ออนไลน์แสดงผลการนับคะแนนเช่นกัน บนหน้าเว็บไซต์ election.thestandard.co รายงานผลการนับคะแนนแบบสด ๆ แสดงจำนวนที่นั่งในสภา ซึ่งตรงนี้หน้าตาอาจจะดูเรียบง่าย ไม่ได้แสดงเยอะเท่าทางฝั่ง Elect.in.th ของ The MATTER แต่ก็เน้นไปที่ข้อมูลสำคัญ ๆ และรายงานผลได้เข้าใจง่าย

ในขณะที่ทางฝั่ง The Momentum นั้นเรียกได้ว่าเล่นใหญ่มากเลยทีเดียว เพราะมีการจับมือกับทั้งทาง A Day Bulletin, Opendream และทาง iLaw เปิดเว็บไซต์ Vote62.com ขึ้นมา ซึ่งเว็บไซต์นี้จะคล้าย ๆ กับ Elect.in.th ที่ช่วยแสดง Data ต่าง ๆ ที่สำคัญ และเป็นคู่มือการเลือกตั้ง แม้ว่า UI อะไรจะไม่หวือหวาเท่าทาง Elect.in.th ที่จับมือผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Visulization คือ Boonme มาทำเว็บร่วมกัน แต่ Vote62 นั้น มีตัวเด็ดจากฝั่งกฎหมายและการเมืองอย่าง iLaw รวมถึงเทคนิค crowdsourcing ซึ่งนับว่าล้ำเอามาก ๆ และเป็นระบบที่ใหญ่ ออกแบบมาเพื่อให้พลังจากฝั่ง User มาช่วยรางานผลการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ปรากฎการณ์ Crowdsourcing

เทคนิค crowdsourcing นั้นหมายถึงการช่วยกันสร้างข้อมูลชุดหนึ่งที่มีนัยสำคัญขึ้นมาจากหน่วยย่อยเล็กมาก ๆ เป็นการเอาแนวคิดของคำว่า Crowd + Outsourcing มารวมกัน นั่นหมายความว่าทุกคนที่เข้าร่วมโครงการของ Vote62 จะสามารถช่วยกันรายงานผลการเลือกตั้งแบบสด ๆ ได้เลย ซึ่ง Data นี้จะมีความเร็วและเป็นการ check กับข้อมูลจากทางฝ่ายกลางอีกที จริง ๆ ก็ถือว่าแทบจะเป็นครั้งแรกที่มีการนำวิธีการนี้มาใช้ในการเลือกตั้งประเทศไทย เพราะเมื่อ 8 ปีก่อน เทคโนโลยียังไม่เอื้อให้เรามาถึงจุดนี้

โดยระบบที่ Vote62 ออกแบบไว้ก็คือ จะแบ่งเป็น 2 ฝั่งคือ ฝั่งถ่ายรูป กับฝั่งกรอกข้อมูล โดยใครที่อยู่ใกล้กับคูหาจะช่วยถ่ายรูปส่งเข้ามาในระบบ แล้วฝั่งกรอกข้อมูลที่นั่งอยู่ที่บ้านจะอ่านคะแนนจากฝั่งถ่ายรูปแล้วมากรอกเป็น Data ตัวเลข เพื่อนำไปรวมกับข้อมูลชุดใหญ่ และสร้างเป็น Dashboard ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมา

ช่องทางจับโกงเลือกตั้ง บนออนไลน์

เนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสมากพอสมควร ทำให้โลกโซเชียลกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยกันเป็นหูเป็นตาและตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ เวลาใครเจออะไรแปลก ๆ ก็จะมาทวีตหรือโพสต์ลงบนโซเชียล และด้วยการรวบรวมไว้ใน Hashtag ต่างๆ ทำให้สื่อออนไลน์และออฟไลน์สามารถเอาเรื่องต่าง ๆ เข้าไปขยายต่อได้ในเวลาอันรวดเร็ว

สำหรับประเด็นที่มีการพูดถึงก็เช่น การปรากฎของรายชื่อผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ, การนำกระดาษไปปิดทับรายชื่อผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ หรือประเด็น Sensitive เช่นการซื้อขายเสียงต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ ซึ่งก็มีการแจ้งรายงานไปยังสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ประชาไท, We Watch หรือ iLaw

ภาพใหม่ ๆ ที่เราได้เห็นกันในการเลือกตั้งครั้งนี้

เนื่องจากเราเลือกตั้งกันครั้งล่าสุดก็ 8 ปีที่แล้ว (ไม่นับตอนที่โดนผู้ชุมนุมบุกคูหา) ธรรมชาติของสื่อโซเชียลเปลี่ยนไปมาก ทั้งในแง่ของเทคโนโลยี วิธีคิด การเข้ามาของสื่อใหม่ และที่สำคัญที่สุดก็คืออินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ธรรมชาติของการเลือกตั้งในครั้งนี้น่าสนใจ และเราได้เห็นภาพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาที่พอจะสรุปได้เช่น

  • การได้เห็นการทำงานของสื่อใหม่ ทั้งเล็กใหญ่ ตั้งแต่ The MATTER, The Standard ไปจนถึงสื่อที่มี Function พิเศษอย่าง iLaw เข้ามามีบทบาทสำคัญมาก ๆ ในการเลือกตั้ง
  • พลังของกระแสบนโลกโซเชียล Trend Twitter และ Hashtag ต่าง ๆ ที่ถูกจุดขึ้นมาและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว สร้างบทสนทนาที่ทรงพลังอย่างไม่เคยมีมาก่อน
  • การร่วมกันสอดส่องการทำงานของ กกต. ด้วยวิธีแบบกระจายศูนย์กลาง และทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
  • การนำวิธีการใหม่ ๆ อย่าง crowdsourcing, Data visualisation หรือ Social Monitoring Tools ต่าง ๆ เข้ามา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทย

และสุดท้าย เราก็คงต้องมาดูกันว่าการเลือกตั้งในปี 2019 นี้ 8 ปี ที่ว่างเว้นไป จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save