FacebookNewsSocial

Avatar

doyoumind August 16, 2021

เข้าใจ 4 ขั้นตอนการทำงานของการจัดลำดับอัลกอริทึม ‘Facebook Newsfeed’

เคยสงสัยกันบ้างไหมคะ เมื่อเปิดหน้าฟีดเฟซบุ๊กขึ้นมาทำไมเราถึงเห็นโพสต์คนนี้บ่อย หรือเห็นเพจนี้ทุกครั้งที่เลื่อนผ่านฟีด?

ก่อนอื่นมาพูดถึงหน้าฟีดกันก่อน เจ้า ‘Facebook Newsfeed’ หรือหน้าฟีดที่เราเรียกกัน จะเป็นหน้าที่รวบรวมเนื้อหาต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงผู้คน ความสนใจต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน เปรียบเสมือนมัดรวมอีกโลกของเราไว้ในที่เดียวเลยก็ว่าได้

แต่ด้วยความที่ปัจจุบันก็มีคอนเทนต์มากมายหลั่งไหลแทบจะทุกวินาที ทำให้เฟซบุ๊กต้องมีอัลกิอริทึมในการจัดลำดับความเกี่ยวข้องของเนื้อหาต่าง ๆ เพื่อให้ตอบสนองได้ตรงความต้องการของผู้ใช้แต่ละคนมากที่สุด

ซึ่งองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่เฟซบุ๊กได้ใช้ในการพิจารณา เพื่อเลือกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในการแสดงให้กับผู้ใช้แต่ละคน ประกอบไปด้วย 4 อย่าง ดังนี้

Inventory

นับเป็นจุดเริ่มต้น โดยเฟซบุ๊กจะรวบรวมโพสต์ทั้งหมดที่มีโอกาสที่จะแสดงอยู่บนหน้าฟีดในแต่ละวัน ซึ่งโพสต์เหล่านี้จะอิงตามเพจและคนที่คุณติดตาม รวมถึงเนื้อหาที่ผู้คนเหล่านั้นแชร์และมีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มที่คุณมีส่วนร่วม และโฆษณาต่าง ๆ ที่คุณมีคุณสมบัติตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่นักการตลาดหรือแบรนด์กำหนดไว้ในการทำแคมเปญเช่นกัน

Signals

อัลกอริทึมจะใช้สัญญาณต่าง ๆ ในการกำหนดแต่ละโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ ซึ่งอิงจากการเชื่อมต่อกับผู้ใช้คนอื่น ๆ หรือเพจที่มีการแชร์หรืออัปเดตกันอยู่เสมอ รวมถึงจะพิจารณาจากการมีปฏิสัมพันธ์กันในอดีตอีกด้วย

นอกจากนี้อัลกอริทึมยังพิจารณาจากโพสต์ที่คุณเห็น โดยจะแบ่งออกเป็นรูปภาพ วิดีโอ หรือลิงก์ และอิงจากประวัติการมีส่วนร่วม เช่น หากคุณมีประวัติดูคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้น อัลกอริทึมก็จะปรับและดึงคอนเทนต์ประเภทวิดีโอออกมาแสดงบนหน้าฟีดให้เห็นมากขึ้น เป็นต้น

Predictions

จากการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวไป โดยอัลกอริทึมจะทำการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการมีส่วนร่วมกับโพสต์ใหม่ ๆ ในการพยายามที่จะเน้นย้ำเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับแต่ละบุคคลจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้

Score

และสุดท้าย อัลกอริทึมจะให้คะแนนแต่ละโพสต์ในกลุ่มคอนเทนต์ทั้งหมดเพื่อจัดอันดับ ยิ่งความเกี่ยวข้องมีคะแนนสูงเท่าไหร่ โพสต์นั้นก็มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาแสดงที่บนสุดของหน้าฟีดได้มากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถใช้เครื่องมือ ‘Favorites’ เพื่อเลือกบุคคลหรือเพจ 30 อันดับแรกไว้ในรายการโปรดที่ต้องการดูมากที่สุด

และยังสามารถเลือกการจัดเรียงหน้าฟีดเป็น ‘Most Recent’ เพื่อให้จัดเรียงหน้าฟีดตามเวลาโพสต์ล่าสุด แต่จะเปลี่ยนกลับไปเป็นระบบอัลกอริทึม เมื่อเข้าสู่ระบบครั้งต่อไป

หรือหากยังพบโพสต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสนใจ หรือไม่ต้องการเห็นโพสต์นั้น ๆ ผู้ใช้ก็สามารถเลือกตัวเลือกสามจุดที่อยู่ด้านบนมุมขวาของโพสต์ เพื่อเลือกจัดการกับโพสต์นั้น ๆ ซึ่งจะมีผลต่อการจัดอันดับเนื้อหาที่จะมาแสดงบนหน้าฟีดในอนาคต

และทั้ง 4 องค์ประกอบนี้ คือภาพรวมพื้นฐานที่เฟซบุ๊กใช้ในการจัดลำดับความสำคัญบนหน้าฟีดให้กับผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับหน้าฟีดของตัวเองได้ รวมถึงเพจเองก็สามารถทำให้สามารถคาดการณ์วิธีการเพิ่มการเข้าถึงบนแพลตฟอร์มได้

แถมยังสามารถนำไปศึกษาเพื่อคิดกลยุทธ์ต่าง ๆ ออกมาให้คอนเทนต์ตอบโจทย์และเกี่ยวข้องมากขึ้น เพื่อที่จะได้มีโอกาสแสดงอยู่บนหน้าฟีดของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นอีกด้วย

ที่มา: Social Media Today

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save