‘Creator Policy’ รวม 7 นโยบายขับเคลื่อนวงการครีเอเตอร์ไทยสู่สภา

‘อาชีพครีเอเตอร์’ กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพในฝันของเด็กรวมถึงผู้ใหญ่หลายคน ตลาดของครีเอเตอร์แต่ละสายก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง ทำให้การสร้างสรรค์คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยาก ถึงขนาดที่ว่าในยุคนี้ใคร ๆ ก็สามารถเป็นครีเอเตอร์ได้

ถึงแม้ครีเอเตอร์จะสร้างรายได้และเป็นอาชีพที่ดูจะมั่นคงแล้ว แต่ในความเป็นจริงครีเอเตอร์ถูกจัดอยู่ในอาชีพฟรีแลนซ์ ซึ่งมีความหมายและขอบเขตที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้ไม่มีหลักค้ำประกันความมั่นคงในอาชีพ หรือไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับอาชีพที่มีการรับรองด้านกฎหมายได้ หรือแม้กระทั่งเรื่องการปูพื้นฐานตั้งแต่การศึกษา การเพิ่มพูนทักษะสู่การเป็นครีเอเตอร์ที่อาจยังทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร

RAiNMaker ในฐานะสื่อที่ต้องการผลักดันวงการครีเอเตอร์ไทย จึงเล็งเห็นช่องว่างต่าง ๆ และต้องการเป็นกระบอกเสียงในการขับเคลื่อนวงการครีเอเตอร์ให้ได้รับสิทธิ์ ความเป็นธรรม และการสนับสนุนที่เพียงพอในการต่อยอดอาชีพและวงการให้เดินไปข้างหน้าจนทัดเทียมต่างประเทศ ผ่านการเสนอ ‘7 นโยบายขับเคลื่อนวงการครีเอเตอร์ไทยสู่สภา’

ที่เป็นการนำ Pain Point ที่เหล่าครีเอเตอร์พบเจอมาสรุปเป็นนโยบาย เพื่อส่งเสียงถึงภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือ ส่งเสริม และแก้ไขกฎหมายที่เป็นธรรมกับครีเอเตอร์มากขึ้น

โดย RAiNMaker ได้เปิดตัวนโยบายทั้ง 7 ข้อครั้งแรกในงานแถลงข่าว “iCreator Conference 2023 Presented by SUPALAI” ไปเมื่อวัน 30 ส.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงยังจะนำประเด็นดังกล่าวไปพูดคุยบนเวทีงาน iCreator Conference 2023 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 พ.ย. นี้อีกด้วย

สำหรับนโยบายทั้ง 7 ข้อ จะครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาเรื่องการสนับสนุนด้านการศึกษาสู่อาชีพครีเอเตอร์, การบรรจุครีเอเตอร์เป็นอาชีพ, การจ่ายภาษีและสวัสดิการ ไปจนถึงการจัดตั้งสมาคมและกองทุนสนับสนุนครีเอเตอร์

นโยบายข้อที่ 1 – Creator as a Career: การบรรจุครีเอเตอร์เป็นอาชีพที่ได้การรับรอง

ตามที่เกริ่นตอนแรกว่าครีเอเตอร์ถูกจัดเป็นเพียงฟรีแลนศ์ ที่ทำให้ขอบเขตการได้รับสิทธิ์และสวัสดิการทางกฎหมายไม่เท่าเทียม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถึงครีเอเตอร์จะเป็นอาชีพยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ที่ใคร ๆ ก็เป็นได้ แต่การจะดำรงอาชีพครีเอเตอร์ให้มั่นคงไปถึงบั้นปลายชีวิตคงจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จึงอาจส่งผลให้ยากต่อการผลิตบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมไปด้วย เราจึงเห็นว่าควรบรรจุครีเอเตอร์เป็นอาชีพ เพื่อเพิ่มความมั่นคงและได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกับอาชีพอื่น ๆ

นโยบาย

  • บรรจุครีเอเตอร์เป็นอาชีพ แทนการใช้คำว่า “ฟรีแลนซ์” 
  • สร้างความเข้าใจกับผู้คนเรื่องอาชีพครีเอเตอร์ว่าสร้างรายได้ และมั่นคง
  • มีการทดสอบเพื่อแลกกับใบประกอบวิชาชีพ
  • สร้างจรรยาบรรณ และสร้างตัวตนให้ครีเอเตอร์ 

นโยบายข้อที่ 2 – Creator Tax: นโยบายสนับสนุนลดหย่อนภาษีให้กับหน่วยงานที่ซื้อสื่อครีเอเตอร์ในประเทศ

ด้วยความที่ครีเอเตอร์ผลิตสื่อสร้างสรรค์อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ และเป็นแพลตฟอร์มจากต่างประเทศซะส่วนมาก ทำให้ใช้เม็ดเงินไปกับการยิง Ads หรือบูสต์โพสต์บนแพลตฟอร์มค่อนข้างเยอะ แถมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนนั้นเป็นเงินที่ไม่ได้นำกลับมาหมุนเวียนในประเทศหรือในวงการครีเอเตอร์เลย

หากเรามีการสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างผู้จ้างและครีเอเตอร์ รวมถึงสนับสนุนให้คนหันมาใช้สื่อครีเอเตอร์ไทยแทนการทุ่มเงินให้แพลตฟอร์มต่างประเทศก็จะถือเป็นการหมุนเวียนรายได้ในประเทศมากขึ้น

นโยบาย

  • ซื้อสื่อครีเอเตอร์ไทย สามารถหักภาษีได้ 200% 
  • สร้างแพลตฟอร์มที่ครีเอเตอร์ ฟรีแลนซ์ติดต่อกับผู้จ้างได้โดยตรง 
  • สนับสนุนการซื้อสื่อของครีเอเตอร์ภายในประเทศ 

นโยบายข้อที่ 3 – Creator’s Social Welfare: สวัสดิการ และประกันสังคมสำหรับอาชีพครีเอเตอร์

สิทธิประกันสังคมจะดูแลครอบคลุมไม่เท่ากันตามแต่ละมาตรา เมื่อครีเอเตอร์ถูกจัดอยู่ในอาชีพฟรีแลนซ์ ที่อยู่ในกลุ่มระบบประกันสังคม ม.40 ซึ่งสิทธิประกันสังคมดังกล่าวมีทางเลือกการจ่ายเงินสมทบและรับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด 3 ทาง คือ 70 บาท, 100 บาท และ 300 บาท/เดือน ทำให้สิทธิ์ไม่เท่าเทียมกับผู้ประกันตน ม.39 หรือมนุษย์เงินเดือนที่จ่าย 432 บาท/เดือน

หากจัดครีเอเตอร์เป็นอาชีพ ครีเอเตอร์ก็จะมาทางเลือกจ่ายสิทธิประกันสังคม เพื่อให้ได้รับสิทธิ์การคุ้มครองและรักษาที่ดีขึ้นกว่า ม.40

นโยบาย

  • เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตน ม.40 ที่ทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ สามารถสมัครใจจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้ประกันตน ม.39
  • เพิ่มโอกาสให้รัฐบาล และสมาคมออกเงินเยียวยาครีเอเตอร์ 

นโยบายข้อที่ 4 – Creator Association: การรวมกลุ่มสู่สมาคมครีเอเตอร์

ประเทศไทยยังไม่มีสมาคมครีเอเตอร์อย่างเป็นทางการ ทั้ง ๆ ที่วงการค่อนข้างเติบโตมาก จึงทำให้ขาดศูนย์รวมหรือตัวกลางที่คอยดูแลภาพรวมวงการครีเอเตอร์ สนับสนุนทุนและอุปกรณ์ รวมถึงเป็นตัวแทนในการส่งเสียงถึงภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหมือนกับวงการอื่น ๆ เช่น วงการโฆษณา ภาพยนตร์ และการออกแบบ

หากมีสมาคมครีเอเตอร์ โอกาสในการได้ทำอะไรใหม่ ๆ ในวงการ หรือเรียกร้องในสิทธิ์ที่ครีเอเตอร์ควรจะได้อาจจะทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเสียงที่มีพลัง และการจัดการที่เป็นทางการมากขึ้นนั่นเอง

นโยบาย

  • สร้างการรวมกลุ่มเป็นสมาคมครีเอเตอร์ไทย โดยมีกำหนดเกณฑ์การเป็นครีเอเตอร์ที่รับรู้ร่วมกันอย่างชัดเจน 
  • สร้างจรรยาบรรณวิชาชีพครีเอเตอร์ให้ครอบคลุมทั้งการทำงาน และสวัสดิการ ไปจนถึงทางกฎหมาย และสุขภาพจิต 
  • ตั้งสมาคมครีเอเตอร์พร้อมหน่วยงานที่สนับสนุน เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านทุน เช่น อุปกรณ์ และการให้เช่าพื้นที่ หรือสตูดิโอ 

นโยบายข้อที่ 5 – Creator Fund: กองทุนสนับสนุนครีเอเตอร์

อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ครีเอเตอร์ไทยยังไปไม่ไกลถึงสากล คือการสนับสนุนเงินทุน อุปกรณ์ หรือแม้กระทั่งสถานที่ เนื่องจากในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นมีต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างสูง บางคนไม่ได้มีกำลังทรัพย์ในการเข้าถึงปัจจัยสร้างเหล่านั้น ทำให้เกิดข้อจำกัดในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นยังพอมีกองทุนสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์

เราจึงอยากให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนครีเอเตอร์ ไม่ว่าจะสนับสนุน เงินทุน อุปกรณ์ หรือสถานที่ รวมถึงมีการสนับสนุนเงินค่าตอบแทนเมื่อครีเอเตอร์ส่งออกผลงานจนเป็น Soft Power ได้

นโยบาย

  • เพิ่มงบประมาณให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมครีเอเตอร์มากขึ้น 
  • จัดตั้ง Creative Center เป็นศูนย์กลางให้ครีเอเตอร์สามารถขอทุนและยืมอุปกรณ์ 
  • ภาครัฐสนับสนุนเงินค่าตอบแทนเมื่อครีเอเตอร์สามารถส่งออก Soft Power ได้ เพื่อผลักดันให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาคอนเทนต์ 

นโยบายข้อที่ 6 – Creator Voucher: คูปองเพิ่มทักษะการสร้างคอนเทนต์ให้กับประชาชน

การศึกษาคือรากฐานสำคัญที่จะบ่มเพาะให้มีทักษะทำงานในสายงานได้อย่างมีคุณภาพ อาชีพครีเอเตอร์เองก็เช่นกัน แต่ด้วยความที่ทักษะเกี่ยวกับการสร้างคอนเทนต์ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในหลักสูตรพื้นฐานในสถานศึกษา หากไม่ใช่สายเรียนหรือคณะที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น คณะนิเทศศาสตร์ ทำให้คนต้องไปหาคอร์สเรียนเสริมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมเอง ซึ่งนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น

เราจึงมองเห็นถึงช่องว่างตรงนี้ และอยากผลักดันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ทักษะเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์เพื่อต่อยอดสู่อาชีพครีเอเตอร์ได้ แม้ไม่ได้จบจากสายนิเทศศาสตร์โดยตรง ผ่านการแจกคูปองส่วนลดคอร์สเรียนเสริมทักษะสู่การเป็นครีเอเตอร์

นโยบาย

  • เพิ่มสถานศึกษาหรือศูนย์ฝึกที่รวมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ให้คนสามารถนำ Voucher มาเรียนเสริมทักษะต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำคอนเทนต์ 
  • แจก Voucher ให้เรียนเสริมทักษะนอกห้องเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวงการครีเอเตอร์ได้ในงบ 2,000 บาท/ปี ต่อคน ภายใต้หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์เท่านั้น เช่น การเรียนยิง Ads, การเรียนวิธีการทำ SEO หรือการตัดต่อวิดีโอ เป็นต้น 
  • Voucher รายปี จะมีการกำหนดเกณฑ์ผู้รับ รวมถึงขอบเขตคอร์สเรียนชัดเจน โดยต้องมีอายุตั้งแต่ 18-30 ปี
  • กระจายรายได้และสร้างแรงจูงใจให้ผู้เชี่ยวชาญในวงการหันมาพัฒนาการสอน โดยการพาร์ตเนอร์กับศูนย์ฝึก เอเจนซี หรือครีเอเตอร์ที่เป็นเทรนเเนอร์

นโยบายข้อที่ 7 – Creator Class: ยกระดับการศึกษาด้านการสร้างสรรค์คอนเทนต์สู่อาชีพครีเอเตอร์

คล้ายกันกับนโยบายข้อที่ 6 เพียงแต่นโยบายข้อนี้จะเน้นไปที่หลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวงการครีเอเตอร์และการผลิตสื่อสร้างสรรค์โดยตรง เนื่องจากบางหลักสูตรของคณะที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะนิเทศศาสตร์ ยังไม่ครอบคลุมหรือตามทันโลก รวมถึงขาดการเข้าถึงอุปกรณ์ที่เพียงพอและเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มหลักสูตรเปิดสอนทักษะเกี่ยวกับการเป็นครีเอเตอร์ในระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา รวมถึงปลูกฝังเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) นทุกระดับการศึกษาเพิ่มเติมด้วย

นโยบาย

  • เพิ่มวิชาทางเลือกที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างทักษะการเป็นครีเอเตอร์ในทุกระดับการศึกษา 
  • ยกระดับหลักสูตรการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ และคณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทักษะในการต่อยอดสู่การเป็นครีเอเตอร์ 
  • รัฐบาลสนับสนุนสถานที่และอุปกรณ์ในการเรียนการสอนให้ครบถ้วน เพื่อมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่สมจริง
  • จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการเป็นครีเอเตอร์ เช่น จัดการประกวด, จัดค่ายอบรม หรือจัดกิจกรรม Workshop เป็นต้น 

📌 สามารถดาวน์โหลดเอกสาร 7 นโยบายขับเคลื่อนวงการครีเอเตอร์ไทยสู่สภา ได้ที่: https://drive.google.com/file/d/19Hxm2zNfHdG3v03lUNw_jfsvGr3P4618/view?usp=drive_link

📌 “ร่วมลงชื่อสนับสนุน 7 นโยบาย เรียกร้องสิทธิ์และความเป็นธรรมของอาชีพครีเอเตอร์” บน change.org ได้ที่: https://chng.it/kmdcLKyYMR

📌 ซื้อบัตรร่วมงาน iCreator Conference 2023 Presented by SUPALAI เพื่อไปฟัง Session ที่ถกประเด็นเพื่อผลักดันวงการครีเอเตอร์

  • สามารถซื้อบัตร Early Bird #3 ราคา 2,200.- (จาก 3,500.-) ได้ที่: https://www.eventpop.me/e/15624
  • แล้วมาเจอกัน 1 พ.ย. 66 ที่ BITEC

#CreatorPolicy #iCreator2023 #ThePowerOfNEXTGen #iCreatorConference

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save