สิ้นสุดการรอคอยสำหรับ ‘Digital 2025 Report’ ข้อมูลอินไซต์ที่รวมสถิติปี 2025 ของประเทศไทย สำหรับครีเอเตอร์ แบรนด์ และเอเจนซี จาก DATAREPORTAL ที่ในปีนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่า 1.2 ล้านคนจากปีก่อน หรือเป็น 91.2% ของจำนวนประชากร รวมถึงยังมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นกว่า 1.9 ล้านคน ซึ่งส่วนทางกับจำนวนประชากรที่มีจำนวนลดลงจากปีก่อนหน้า
จากสถิตินี้ทำให้ครีเอเตอร์ แบรนด์ และเอเจนซียิ่งต้องตื่นตัวกับการทำคอนเทนต์บนโลกโซเชียลมีเดีย รวมถึงการวางแผนการตลาดบนโลก E-Commerce ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในปีนี้จะมีเทรนด์ และแนวโน้มไปทิศทางไหนบ้าง วันนี้ RAiNMaker สรุปมาให้แล้ว ไปดูกันเลย!
ในส่วนของเหตุผลหลักในการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทย อันดับ 1 ยังการเป็นใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูล ทำให้การทำ SEO ยังมีความสำคัญมากในปีนี้ เนื่องจากการติดหน้าเว็บจะทำให้ผู้ใช้ที่กำลังหาข้อมูลเข้าถึงเราได้ง่ายขึ้น
ส่วนด้านจุดประสงค์ในการใช้แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ จากเดิมที่การใช้โซเชียลมีเดียเป็นอันดับ 1 แต่ในปีนี้การแชต และส่งข้อความมีจำนวนมากขึ้นจนเท่ากับการใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงการส่ง Email ก็ขึ้นมาติดอันดับ 3 แทน Search Engine อีกด้วย
โดย Top 3 เว็บไซต์ที่มีผู้ใช้ประจำมากที่สุดมีอันดับเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดย Line ได้ขึ้นแท่นเป็นอันดับสามรองจาก Facebook และ YouTube แทน Facebook Messenger ที่ตกไปอยู่อันดับ 4 แทน นอกจากนี้ TikTok ยังขึ้นจากอันดับ 7 มาอันดับ 5 แบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว
รวมถึงแพลตฟอร์มที่มีการใช้จ่ายมากทื่สุดอย่าง TikTok ยังติดอันดับ 1 แทน YouTube เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนแพลตฟอร์มที่น่าจับตามองคงเป็น SHORTTV แอปพลิเคชันสำหรับดูซีรีส์สั้น ที่เข้ามาใหม่ก็ติดอันดับ 5 เลยทีเดียว เรียกได้ว่าเทรนด์ Short-form Video มาแรงสุด ๆ ในช่วงปีนี้
มาถึงแพลตฟอร์มกันบ้างในปีนี้แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้บ่อยที่สุด 3 อันดับแรกยังคงเป็น Facebook, Line และ TikTok แต่ในส่วนของแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้ชื่นชอบที่สุดอันดับแรกกลายเป็นของแพลตฟอร์มวิดีโออย่าง TikTok แทน Facebook เป็นการตอกย้ำความนิยมของคอนเทนต์ประเภท Short-form บนแพลตฟอร์มอีกด้วย
ถือว่าในปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายบนโลกโซเชียลมีเดียทั้งประเภทคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมเปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลไปถึงพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้งานอีกด้วย แต่ถ้าเจาะลึกไปแต่ละแพลตฟอร์มจะมีอะไรเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนกันบ้าง ไปดูต่อกันเลย!
YouTube
เริ่มที่ YouTube แพลตฟอร์ม Long-form ที่ในปีนี้นอกจากจะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีจำนวนการเข้าถึง Ads จากผู้ใช้ต่อปีที่สูงกว่าเดิมถึง 7.7% หรือประมาณ 3.4 ล้าน จากเดิมที่มีผู้ใช้เข้าถึงเพียง 3 แสนเท่านั้น ซึ่งนี่อาจจะเป็นผลมาจากอัลกอรึทึมที่เปลี่ยนไปของ YouTube ที่จะแสดง Ads แบบซ่อนปุ่ม Skip เป็นผลให้ผู้ใช้เข้าถึงโฆษณามากขึ้น
ในส่วนของ Top Search บน YouTube ยังเป็นการค้นหาคำว่า ‘เพลง’ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอันดับ 2 เป็นคำว่า ‘เธอ’ อาจเพราะว่าผู้ใช้ค้นหาเพลงเกี่ยวกับคำว่า เธอ เพื่อส่งให้ใครสักคนก็เป็นได้ ส่วนการค้นหาคำว่า หนัง, เกม, ผี, และการ์ตูนก็ตกลง 1 อันดับจากปีก่อนหน้าอีกด้วย
ต่อไปเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานสูงสุดอย่างต่อเนื่องอย่าง Facebook ที่ในปีนี้ นอกจากจะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นแตะ 50 ล้านแล้ว ในด้านการเข้าถึง Ads ในแต่ละ Quarter ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบถึง 7.9% โดยในปีนี้มีผู้ใช้เข้าถึง Ads เพิ่มขึ้น 3.8% หรือ 1.85 ล้านคน ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการพัฒนาฟีเจอร์สำหรับการลงโฆษณาบน Facebook ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้เอนเกจจากคอนเทนต์ประเภทต่าง ๆ ของ Facebook อย่าง Status Post ยังสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 0.13% รองลงมาคือโพสต์แบบรูปภาพที่ยังแซงหน้าวิดีโอในปีนี้ ส่วนคอนเทนต์ประเภท Link Post มีจำนวนลดลงจากปีก่อนหน้าจาก 0.05% เป็น 0.01% ซึ่งอาจเป็นผลจากการปิดการมองเห็นลิงก์จากการตรวจสอบโดยระบบก็เป็นได้
ในส่วนของ Instagram แพลตฟอร์มประเภทรูปภาพที่ในปีที่แล้ว Carousel Post มาแรงที่สุด แต่ในปีนี้มีจำนวนผู้ใช้งานในประเทศไทยลดลงจากปีก่อนหน้า แม้ว่าจะมีคอนเทนต์ประเภท Reels เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีจำนวนการเข้าถึง Ads ต่อปีที่ลดน้อยลงกว่าเดิม 1.3% หรือติดลบกว่า 250,000 จากปีก่อนหน้าอีกด้วย
TikTok
ถึงแม้ว่า Short-form จะได้รับความนิยมมากขึ้นในปีนี้ แต่แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง TikTok กลับมีผู้ใช้ลดลงจากเดิมที่มีจำนวน 44.38 ล้านคน มาเป็น 34 ล้านคนแทน นอกจากนี้จำนวนผู้ใช้ที่สามารถเข้าถึง Ads บน TikTok ยังมีจำนวนติดลบจากปีก่อนหน้า ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการโฟกัสที่ TikTok Shop และคอนเทนต์แบบ UGC ในปีก่อนหน้านั่นเอง
X
และแพลตฟอร์มสุดท้ายอย่าง X ที่โดดเด่นในการโพสต์คอนเทนต์แบบข้อความ ถึงในปีที่ผ่านมาจะมีการปรับตัวเข้าหาเทรนด์วิดีโอมากขึ้นจากการปรับแถบด้านล่างของแพลตฟอร์มให้สามารถกดเพื่อเลื่อนดูวิดีโอได้เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ แต่ก็มีแนวโน้มของผู้ใช้งานที่ลดลง อาจเป็นเพราะการมาของ Threads และ Lemon8
รวมถึงจำนวนผู้ใช้ที่เข้าถึง Ads ยังลดน้อยลงอีกด้วย แต่ถ้าเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จำนวนการเข้าถึงจะลดลงจากเดิม ซึ่งทิศทางของการโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะเป็นอย่างไร คงต่อรอดูแนวโน้มในปีนี้ต่อไป
E-Commerce
สำหรับเทรนด์ E-commerce จากสถิติมีแนวโน้มที่สูงขึ้นจากปีก่อนยกเว้นการซื้อสินค้ามือสองบนโลกออนไลน์ที่มีจำนวนลดลง อาจเป็นเพราะเทรนด์การ Thrift หรือซื้อสินค้ามือสองตามร้านค้า หรืออีเวนต์ต่าง ๆ แบบออนไซต์ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยพฤติกรรมการซื้อบนโลกออนไลน์ สามารถจัดอันดับได้ดังนี้
- ซื้อสินค้า หรือบริการ 69.2%
- ซื้อจับจ่ายซื้อของชำ 45.1%
- ใช้แพลตฟอร์ม E-comerce เพื่อเปรียบเทียบราคา 24.4%
- ใช้บริการซื้อตอนนี้จ่ายทีหลัง (Pay Later) 22.7%
- ซื้อสินค้ามือสองจากโลกออนไลน์ 12.5%
นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าประเภทความงาม และการดูแลตัวเองเป็นอันดับ 1 โดยผู้บริโภคมีเหตุผลในการตัดสินใจซื้อสินค้า และบริการต่าง ๆ ซึ่งสามารถเรียงได้ 5 ลำดับ ดังนี้
- ส่งฟรี
- มีคูปอง และส่วนลด
- เก็บเงินปลายทาง
- จากการอ่านคอมเมนต์ และไลก์
- ผู้ใช้จริงรีวิว
เรียกได้ว่าอันดับการตัดสินใจในการซื้อสินค้ามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่มีการตัดสินใจจากการรับคูปอง และส่วนลด มาเป็นการโฟกัสโปรโมชันแบบส่งฟรีมากขึ้น อีกทั้งนโยบายการส่งคืนสินค้าที่ง่ายของแพลตฟอร์มก็หลุดจาก 5 อันดับแรกอีกด้วย
Digital Marketing
ในฝั่งของ Digital Marketing สำหรับแบรนด์เพื่อใช้สถิติในการเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการหาจุดยืนของแบรนด์ที่แตกต่างจากคู่แข่งในปีนี้ โดยสิ่งแรกที่แบรนด์จะต้องทำความเข้าใจคือการมองว่าผู้บริโภคสามารถค้นพบเราจากที่ไหน ซึ่งสามารถจัดอันดับได้ ดังนี้
- Search Engine 37.1%
- โฆษณาในแอปพลิเคชันต่าง ๆ 30.8%
- โฆษณาทางทีวี 29.6%
- เว็บไซต์ของแบรนด์ 28.8%
- เห็นในรายการ ละคร และภาพยนตร์ 27.5%
นอกจากนี้ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยมากขึ้น หลังจากเทรนด์การชอปปิงบนโลกออนไลน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีเหตุผลต่าง ๆ ที่ผู้บริโภครู้สึกกับแบรนด์ ได้แก่
- กังวลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบระหว่างของจริง และปลอมบนโลกออนไลน์ 62.6%
- เคยปฏิเสธ Cookies อย่างน้อย 1 ครั้ง 39.3%
- กังวลเกี่ยวกับการนำข้อมูลที่กรอกไปในโลกออนไลน์ของบริษัท 25.8%
- ใช้เครื่องมือเพื่อบล็อกโฆษณาอย่างน้อย 1 ครั้ง 23.7%
- ใช้ VPN เพื่อไม่ระบุตัวตนบนโลกออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง
สำหรับครีเอเตอร์ แบรนด์ และเอเจนซี ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมใน Digital 2025 Report จาก DATAREPORTAL สามารถไปอ่านได้ที่ https://datareportal.com/reports/digital-2025-thailand