JournalismTV Channel

Avatar

miss arisa December 12, 2018

Traditional Media สรุปความเคลื่อนไหวสื่อทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ประจำปี 2018

ปี 2561 อาจไม่ใช่ปีที่ย่ำแย่ที่สุดของสื่อดั้งเดิม หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดการปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก ปีนี้จึงถือเป็นศึกของผู้อยู่รอด สื่อที่ยังอยู่ตอนนี้ต้องปรับตัวมากมายแค่ไหน และมีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจต่อคนทำคอนเทนต์อย่างพวกเราบ้าง ลองทบทวนไปพร้อมๆกันได้เลย

  • การปิดตัวของสื่อดั้งเดิม

เปิดต้นปี 2561 มาด้วยการจากไปของรายการเรทติ้งดี จันทร์พันดาว ต่อด้วย ตัวรายการ ที่นี่หมอชิต ของดู๋ สัญญา ที่อยู่มานานถึง 11 ปี คู่คืนวันอาทิตย์ของช่อง 7 เนื่องจากการเข้ามาของสื่อใหม่ ทำเอาแฟนรายการค่อนข้างช็อค หลังจากนั้นช่วงกลางปี ซูโม่ กิ๊ก พิธีกรคู่หูที่มีบริษัททำรายการของตัวเองเช่นกันอย่าง Triple Two ก็ออกมาประกาศยุติ 2 รายการรวด นั่นคือ เกมส์พันหน้า และ ร้องแลกไข่

media

ฝั่งช่อง 3 ในช่วงต้นปีนั้นยังคงได้กระแสของบุพเพสันนิวาสต่อยอดมาอยู่ แต่พอมาในช่วงเดือนกันยายนก็เกิดข่าวใหญ่กับการปิดตำนาน 16 ปี ดันดารา รายการดังที่แจ้งเกิดนักร้องมากมาย ฝั่งละครแฟนๆก็ต้องโบมือลา น้องใหม่ร้ายบริสุทธ์ หลังอยู่คู่วัยรุ่นไทยมา 20 ปี ส่วนโพลีพลัสที่มีผลิตงานให้ช่อง 3 อยู่ แต่กับรายการที่ออนแอร์อยู่ช่อง 9 อย่าง ดาวกระจาย กลับไม่ได้ไปต่อ เช่นเดียวกับ Money Channel สถานีข่าวการเงินที่กระจายรายการอยู่ในช่องต่างๆก็ประสบปัญหาการเปลี่ยนผันของสื่อใหม่ ยิ่งกับข้อมูลการเงินที่หมุนไปเร็ว รูปแบบของรายการโทรทัศนั้นไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปแล้ว

มาดูที่นิตยสารกันบ้างยังคงทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากลาแผงไปกว่า 80% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนในที่สุดก็ถึงคิวของ 2 นิตยสารที่อยู่มา 5 ทศวรรษอย่าง Starpics และ Student Weekly จริงๆแล้วทั้ง 2 เล่มนี้ก็ผ่านมาปรับตัวมาอย่างมากมาย และในจุดนี้ก็เป็นเพียงการปรับตัวอีกครั้งหนึ่ง เพราะทั้งสองยังคงไปต่อในช่องทางออนไลน์

สำหรับกลุ่ม publishing ที่ถือครองนิตยสารอยู่หลายหัวก็มีทั้งปิดแบบเทกระจาด และแบบที่เฉือนออกบางส่วนอย่างอมรินทร์ที่ตัดสินใจปิดนิตยสาร Secret โดยยังคงไม่ทิ้งสิ่งพิมพ์ไปทั้งหมดและทำออนไลน์ควบคู่ไปด้วยอย่าง บ้านและสวน เป็นต้น ผิดกับทรีแดนซ์ โฮลดิ้งที่อกหักครั้งใหญ่หลังจากทุ่มเงิน 45 ล้านบาทซื้อธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มาจากแกรมมี่ได้เพียง 3 ปี สุดท้ายก็ต้องตัดใจทิ้งทั้งหมด ซึ่งได้แก่ นิตยสาร Maxim นิตยสาร Attitude และนิตยสารมาดามฟิกาโร

  • ปรากฏการณ์ย้ายช่อง

ในปีนี้ไม่ใช่แค่รายการทีวีเคยคุ้นไปโผล่อยู่ช่องใหม่ๆ จริงๆต้นทางนั้นเริ่มมาจากการย้ายช่องของระดับผู้บริหารนำมาก่อน โดยเปิดปี 2561 ด้วยอดีตผู้บริหารจาก 2 ช่องใหญ่ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการ ช่อง 3 และ พลากร สมสุวรรณ อดีตกรรมการผู้จัดการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ย้ายฝั่งมาคุมทัพ PPTV สบทบด้วยอดีตเสาหลักของช่อง 7 อีกท่าน นั่นคือสุรางค์ เปรมปรีดิ์ หรือที่เรารู้จักในนาม คุณแดง พานามบริษัท จันทร์ 25 มาผลิตละครให้กับ PPTV

และอีกยักษ์ใหญ่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ กันตนา ที่เตรียมตัวทุ่มผลิตคอนเทนต์ลง PPTV แบบจัดหนัก ทั้ง E Online และ The Face ที่เตรียมแพลนทำ The Face Thailand Season 4 และ The Face Men Thailand Season 3 จ่อลงปีหน้าอย่างแน่นอน ต่อด้วย The Voice Thailand ที่บาดเจ็บมาจากช่อง 3 และหวังเกิดใหม่ที่ PPTV ซึ่งก็ดูจะเป็นไปด้วยดี

เช่นเดียวกับรายการกิ๊ก ดู๋ สงครามเงาเสียง หลังมีเหตุดราม่ากับช่อง 7 ก็เตรียมลงผัง PPTV ในปี 2562 ยัง ยังไม่หมด! การถ่ายทอดสดการประกวด Miss Universe ที่เป็นของช่อง 3 มาอย่างยาวนานก็เจอ PPTV ปาดหน้าเค้กก้อนใหญ่ ยิ่งเป็นปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประกวดแล้วด้วย PPTV จึงสู้ยิบตาเพื่อให้ได้สิทธิ์ถ่ายทอดมาครอบครอง

มาถึงอีกกลุ่มที่เรียกว่าย้ายก็ไม่ได้ซะทีเดียว เรียกว่าได้บ้านใหม่ดีกว่า เริ่มที่ Thailand’s Got Talent 2018 ที่หลังจากหายไป 2 ปี ก็กลับมาใหม่ โดย Workpoint ได้พิธีกรเดิมอย่างน้าเน็ค ส่วนกรรมการชุดใหม่ก็เน้นเอาใจวัยรุ่นมากขึ้น ช่วงแรกกระแสในออนไลน์ส่งมาดี แต่ด้วยข้อกังขาเกี่ยวกับโชว์หลายๆอย่างจึงปิดซีซั่นไปอย่างเงียบๆ

บีอีซี-เทโร เรดิโอ บอกลา “เวอร์จิ้น” หลังเป็นพาร์ทเนอร์กับ “เวอร์จิ้นกรุ๊ป” แบรนด์วิทยุจากอังกฤษยาวนานถึง 15 ปี โดยเปลี่ยนจาก Virgin Hitz เป็น HITZ 955 และ Virgin Star FM เป็น STAR FM ส่วนฝั่งแกรมมี่อย่าง Atime ก็มีการรีแบรนด์ให้ดูน่ารักสดใสขึ้น หวังขยายฐานคนฟังที่อายุน้อยลง และอีกเจ้าวิทยุ Independent Communication หลังจากปรับตัวปิด Love Radio ไป ก็หันมารีแบรนด์ FM One และ Get Radio ให้ดูทันสมัยมากขึ้น

  • Media Transformation

การเข้ามาของสื่อออนไลน์ไม่ได้เป็นผลร้ายเสมอไป หลายๆสื่อปรับตัว พลิกกลยุทธิ์ลุยทำออนไลน์ควบคู่กับออฟไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในเมื่อพื้นฐานเดิมเป็นคนผลิตสื่อที่มีคุณภาพอยู่แล้วการผลัดเปลี่ยนมายังออนไลน์นั้นเพียงแค่ต้องเปิดใจเรียนรู้กันใหม่ และปรับตัวให้เร็ว อย่างสื่อเหล่านี้ที่โดดเด่นในด้านของการทำ Media Transform

ONE31

ช่อง ONE สืบเนื่องมาจากปีที่แล้วช่อง ONE เน้นบุกการทำละครลงจอซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นละครรีเมคในคลังของ Xact เอง อย่างเรื่องล่า เมื่อต้นปีก็ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ชม และยังคงทำการตลาดออนไลน์ด้วยการตัดไฮไลท์มาลงทำให้คนดูอยากติดตามดูต่อ จนกลางปีก็สร้างกระแสฟีเวอร์ด้วยละครเรื่อง เมีย 2018 ซึ่งเบื้องหลังกระแสเหล่านี้ถูกโหมมาจาโซเชียลแทบทั้งสิ้น ทางผู้บริหารอย่าง บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ก็แถลงนโบบายชัดมาตั้งแต่ต้นปีว่าเขาให้ความสำคัญกับช่องออนไลน์ไม่แพ้กัน

โดยร่วมมือกับ LINE TV นำคอนเทนต์ละครและซิทคอมทุกเรื่องให้ผู้ชมดูผ่านมือถือได้ภายใน 2 ชั่วโมง รวมไปถึงผลิต Original Content ในกับ LIVE อย่างซิทคอมเรื่อง เป็นต่อ ที่ฟันยอดวิวกว่า 600 ล้าน เพราะหาชมได้ใน LINE เพียงแพลตฟอร์มเดียว

ส่วนรายการข่าว วาไรตี้ เกมโชว์ หรือ ไฮไลต์ละคร นั้นก็ครอบครองยอดวิวใน YouTube อย่างมหาศาลจนติด Top 10 วิดีโอยอดวิวสูงสุดประจำปี 2018 ของไทย แม้จะมีอุปสรรค์อยู่บ้างที่คนดูไม่ค่อยนิยมดูตอนฉายสด อย่างกรณีของ เลือดข้นคนจาง ที่ทางนาดาวเองก็โหมโปรโมทในออนไลน์ บวกกับนักแสดงที่ดึงดูดคนดูกลุ่มวัยรุ่นอยู่แล้ว ทำให้เรทติ้งอาจจะน้อยหน่อย แต่ประสบความสำเร็จในแง่ยอดวิวมากๆ

MONO & MThai

จากเว็บไซต์วาไรตี้ที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์ควบคู่มาจนพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2556 และกระโจนเข้าสู่ทีวีดิจิทัลด้วยการนำเข้าคอนเทนต์จากต่างประเทศ อย่างซีรี่ย์และภาพยนตร์จนคว้าเรทติ้งเทียบเท่ากับช่อง 3 7 และ Workpoint ด้วยการแพลนคอนเทนต์ตาม Seasoning อย่างการนำ Mission Impossible  ทุกภาคมาฉายก่อนที่  Mission Impossible  6 มาฉาย หรือการฉาย Harry Potter มาราธอน ในช่วงใกล้ๆกับการเข้าฉายของ Fantastic Beats เป็นการยิงคอนเทนต์ให้ตรงกับความสนใจของผู้ชมได้อย่างมีกึ๋น เมื่อจับกลุ่มคนดูหนังได้อยู่แล้วก็ต่อยอดไปขายสมาชิกกับช่อง MONO Plus ได้อีก

ไม่เพียงช่องทีวีเท่านั้นที่สร้างปรากฏการณ์ให้ MONO ฝั่งช่องทางออนไลน์อย่าง MThai ที่อยู่มาก่อน ก็ยังไม่หายไปเพียงแต่ปรับตัวให้เข้ากับแพลตฟอร์มโซเชียล โดยเฉพาะ Twitter แม้ MONO จะไม่ได้ทำคอนเทนต์ที่เน้นไปทางข่าวนัก แต่จากเหตุการณ์ถ้ำหลวง สื่อที่ใครๆก็นึกถึงและให้ความไว้วางใจก็คือ MThai เพราะการรายงานที่รวดเร็ว ถูกต้อง และใช้รูปแบบที่เป็นกันเองจึงได้ใจชาวทวีตแบบถล่มทลาย ทะยานสู่ 1 ล้าน Follower ด้วยภารกิจการรายงานข่าวครั้งนี้

Workpoint

จากผู้จัดรายการสู่การเป็นช่องทีวีดิจิทัลที่ใครๆก็ติดตาม เป็นที่รู้กันว่า Workpoint นั่นเป็นเจ้าแห่งวงการเกมส์โชว์อยู่แล้ว การปรับเปลี่ยนมาทำช่องทีวีในช่วงแรกๆ รายการจึงอัดแน่นไปด้วยเกมส์โชว์ วาไรตี้ และมีความพยายามจะบิ้วละครอยู่บ้างแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จน Workpoint ได้นำคอนเทนต์จากประเทศเกาหลี ไม่ใช่แค่นำมาฉาย แต่ผลิตเป็นเวอร์ชั่นประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็น I Can See Your Voice ,The Return of Superman , Let Me In จนมาประสบความสำเร็จมากๆในช่วงกลางปี 2560 กับรายการ The Mask Singer และเป็นรายการแรกๆที่ถ่ายทอดสดลง Facebook LIVE แบบ HD คมชัดไม่แพ้ดูจากทีวี จึงได้ฐานคนดูไปทั้งทีวีและออนไลน์ นอกจากตัวคอนเทนต์เองที่เปรี้ยง รายการยังคืนชีพให้ เป็ก ผลิตโชค กลายมาเป็นนักร้องคิวทองคนหนึ่งของประเทศ และวางรากฐานให้ The Mask Singer ต่อยอดไปได้อีกหลายซีซั่น รวมถึงการขายสินค้า และโชว์คอนเสิร์ตที่สร้างรายได้ตามมาอีกมหาศาล

หลักจากท็อปฟอร์มในการทำวาไรตี้ อีกด้านที่ Workpoint บุกช่องทางออนไลร์มากๆก็คือรายการข่าว ถ้าย้อนกลับไปปีสองปีก่อน จะดูข่าวแต่ละทีเราก็จะให้ความไว้วางใจช่องหลักไว้ก่อน แต่ Workpoint News ผลักดันตัวเองขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักของคนด้วยการทำข่าวสั้น ที่เราได้เห็นจากวิดีโอซีรี่ย์ Shorts ของ  Workpoint News ที่สรุปข่าวแบบเข้าใจง่าย และดึงความน่าสนใจด้วยภาพ ข้อความสั้นๆ มากกว่าการเล่าข่าวแบบทั่วไป จน ณ ปัจจุบัน Workpoint News มียอดไลค์เพจกว่า 2 ล้าน และล่าสุดยังได้รับสิทธิ์ผลิตรายการให้ Facebook กับ Confetti Thailand

Banlue Group

Banlue Group ในยุคที่บริหารโดยทายาท พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ซึ่งธุรกิจในเครือนี้ถ้าพูดกับคนอายุ 30-40 ให้พูดถึงบรรลือสาส์น ก็จะร้องอ๋อทันที แต่ถ้าพูดกับคนอายุ 20 + ให้พูดถึง Salmon House ก็จะร้องอ๋อ พร้อมเล่าถึงผลงานของ Salmon House ในความทรงจำของพวกเขาทันที

Banlue Group มีรากฐานจากการทำหนังสือการ์ตูนมาก่อน ในส่วนของธุรกิจสิ่งพิมพ์มีการขยับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ Bunbook สำนักพิมพ์ที่ทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียเป็นหลัก พร้อมเปิดเว็บไซต์สำหรับรองรับส่วนขยายของหนังสืออย่าง MINIMORE

จนมาถึงยุคของสงครามคอนเทนต์ Banlue Group เองมี Salmon House มาก่อนที่ทำในด้านของคอนเทนต์วิดีโอซึ่งขึ้นชื่อเรื่อง Advertorial แบบตรงไปตรงมาที่ได้ใจคนดู และใน Salmon House เองก็มีบุคลากรที่พร้อมสำหรับการลุยคอนเทนต์อย่าง แชมป์ ธีปกร จึงเกิดมาเป็น The Matter ที่นำเสนอบทความเชิงสาระความรู้ และยังมีกลิ่นอายของบรรลือด้วยการใช้ภาพวาดมาเป็น Key Vision ของเว็บ ถือเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทรานฟอร์มมายังออนไลน์ได้อย่างสง่างามและมีอนาคตอีกไกลเลยทีเดียว

  • Content Big Bang

บททดสอบทีมข่าวคุณภาพ

เหตุการณ์ถ้ำหลวงถือเป็นบททดสอบหลายๆอย่างของอาชีพคนข่าว ด้วยสถานที่เกิดเหตุที่เข้าถึงลำบาก ผู้ประสบเหตุเองยังเป็นเยาวชน ไหนจะมีเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อและวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ครบทุกความท้าทายที่ทีมข่าวต้องฝ่าไปให้ได้ ในช่วงแรกๆของเหตุการณ์สื่อเก่าบางเจ้านำเสนอในแง่มุมของความดราม่า เรื่องเหนือธรรมชาติ ซึ่งมันไม่เวิร์คเอาซะเลย ผู้ชมยังไม่ได้ตระหนักภาวะเสี่ยงของผู้ประสบภัยและข้อมูลเชิงข้อเท็จจริงเสียเท่าไหร่

จนกระทั่งอดีตผู้ว่าเชียงราย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเพื่อหยุดความวุ่นวายและข่าวโคมลอยต่างๆ สื่อหลายๆสำนักเริ่มหันมารายงานเหตุการณ์และคำพูดของท่านผู้ว่าแบบคำต่อคำ นาทีต่อนาทีผ่านทวิตเตอร์ อาทิ MThai และ Thai PBS ทำไมสื่อถึงเลือกใช้ Twitter ล่ะ ในเมื่อผู้ใช้ Facebook นั้นมีมากกว่า ถ้าเรายังไม่ลืมช่วงต้นปี Facebook ปรับอัลกอลิทึ่มชนิดที่หน้าฟีดไม่มีอะไรเลย นอกจากเพื่อนซื้อของอะไรมาใหม่ ใครเลิกกับใคร แต่ทว่า Twitter นั้นสามารถเลือกอ่านข่าวล่าสุด มีข่าวใหม่ก็ขึ้นมาเรียลไทม์และมีแฮชแท็คที่พึ่งพาได้

พอเวลาผ่านไปคนยิ่งเยอะ เรื่องยิ่งแยะ ข่าวปลอม ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนก็ยังหลุดออกมาแม้ว่าผู้ว่าจะเน้นย้ำให้ฟังข้อมูลจากท่านเท่านั้น หนำซ้ำยังเกิดการกระหายข่าวจนเกิดทำเรื่องผิดพลาดมากมาย ทั้งการฝ่าเขตกั้นเข้าไปในถ้ำ การเผยโฉมหน้าของหน่วยซีลซึ่งควรจะเป็นความลับ การไม่ทำการกติกาของศูนย์ช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้บีบคั้นให้เราเห็นว่าแต่ละสำนักข่าวมีการทำข่าวออกมาอย่างไร และสำนักข่าวไหนมีศีลธรรมมากพอแม้ในภาวะที่คับขันแบบนี้

มองละครแล้วย้อนดูคนทำคอนเทนต์

จากกระแสเมีย 2018 จนถึงเลือดข้นคนจาง พิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า คนดูต้องการอะไรแปลกใหม่ แม้ เมีย 2018 รีเมคมาจากซีรี่ย์ไต้หวัน แต่คนดูต้องการรสชาติใหม่ๆในการเล่าเรื่อง มีจุดพลิกผันของตัวละครที่ใกล้เคียงกับชีวิตของเขา

กับเลือดข้นคนจางเองก็เช่นกัน เรื่องครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวคนจีนถือเป็นดราม่าระดับชาติที่ทุกคนพร้อมจะอินตาม สอดแทรกประเด็นให้เกิดการพูดถึงในโลกโซเชียล เท่านี้ก็เรียกศรัทธาคนดูละครกลับมาได้ และสร้างมาตรฐานให้คนทำละครรุ่นต่อๆไป ออกจากวงวนละครรีเมคที่ดูกันมาทุกเจนเนอเรชั่นแล้ว

ส่วนละครและซีรี่ย์อื่นๆที่สร้างอิมแพคให้โลกโซเชี่ยลได้ก็ต้องยกให้ น้องใหม่ หรือ แนนโน๊ะ ซีรี่ย์ที่ผลิตโดยเอเจนซี่ที่ขับเคลื่อนโดยผู้หญิงอย่าง SOUR ไม่เพียงสร้างกระแสการ Parody แต่ยังบอกกับสังคมได้อย่างเสียงดังว่าซีรี่ย์วัยรุ่นมันมีมิติมากกว่าเรื่องรัก เรื่องเรียนนะ ซีรี่ย์วัยรุ่นมันสะท้อนตัวผู้ใหญ่เองด้วยซ้ำไป นอกจากใจกล้าในเรื่องการทำคอนเทนต์แล้ว ยังใจกล้าที่จะไม่ลงรีรันก่อนซีรี่ย์จะจบด้วย โดยทางค่ายขายให้ลงใน Netflix เท่านั้นในเวอร์ชั่น Uncensored

คนทำละครนอกจากจะต้องหนีตายไปยังช่องทางออนไลน์แล้ว ภาพยนตร์ยังเป็นอีกเวย์หนึ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่า นาคี 2 จะสร้างความคึกคักส่งท้ายปีให้กับวงการภาพยนตร์ไทยหลังจากเงียบมาตลอดทั้งปี โดยโกยรายได้ไป 400 ล้าน ดึงคนต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยนิยมชมภาพยนตร์ให้ออกมาควักกระเป๋าได้ จนเกิดเป็นโมเดลละครสู่หนังตามมาอีก ที่มีข่าวออกมาแล้วก็คือ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ ที่เตรียมสร้างภาพ The Movie เรียบร้อยแล้ว

The Rapper คืนชีพให้วงการเพลงฮิปฮอป

หลังจาก Rap is Now เรียกกระแสเพลงแร็ปให้กลับมาได้ในโลกออนไลน์ วัยรุ่นมากมายมีหมุดหมายอยากเป็นแร็ปเปอร์กับเขาบ้าง ในสื่อหลักอย่างทีวีก็ไม่เมินเฉย โดยมีข่าวมาจากฝั่ง True4u ก่อนว่าได้ทำการซื้อรายการ Show Me The Money มาจากเกาหลีและเปิดออดิชั่นคนทั่วไปเข้าร่วมรายการ แต่แล้ว Workpoint ก็ชิงเปิดตัว The Rapper รายการที่เป็นออริจินัลของ Workpoint เอง แม้รูปแบบจะมีการผสมๆของรายการเพลงหลายรายการอยู่ก็ตาม แต่ด้วยสเน่ห์ของโค้ชทั้ง Twopee , กอล์ฟ ฟักกิ้งฮีโร่ ,Urboy TJ และปู่จ๋านลองไมค์ บวกกับดราม่าทางถนัดของ Workpoint ก็บูม! กระแสโซเชียลมาเต็ม จนทำให้ Show Me The Money เงียบไป

ผลพวงจากกระแสเพลงแร็ปหลังจากรายการจบนั้นตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งวงการเพลงเองที่ ft. กับแร็ปเปอร์คนนั้นทีคนนี้ทีออกมาให้ได้ฟังกันตลอด โฆษณาหลายๆแบรนด์ก็ดึงเอาพวกเขามาร่วมร้องและแต่งเพลงให้ ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดแค่กับ Workpoint เท่านั้น คนทั้งประเทศหันมา ‘สนใจ’ และ ‘รับฟัง’ การสื่อสารผ่านการแร็ป ซึ่งส่งผลมาถึง ‘ประเทศกูมี’ เพลงแร็ปที่มีเนื้อหาบอกเล่าสิ่งที่ประเทศนี้มีโดยมุ่งเน้นไปที่การเมือง จนคนใหญ่คนโตในบ้านเราออกมาร้อนเนื้อร้อนตัวกันใหญ่ ยิ่งใกล้ช่วงเลือกตั้งแบบนี้ เหล่าคนรุ่นใหม่ที่ถูกปิดปากมานานก็กำลังหาวิธีการพูดออกไป และเพลงแร็ปก็เป็นอีกเวย์หนึ่งที่ได้ระบายความอัดอั้นนั้นออกมาได้อย่างดีและมีศิลปะ

เรียบเรียงโดยทีมงาน RAiNMaker

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save