TIME ยก “นักข่าว” เป็นบุคคลแห่งปี 2018 สิ่งนี้บอกอะไรเรา

ในขณะที่คณะนิเทศศาสตร์ถูกมองว่าเรียนจบไปจะทำอะไร ? เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ทำสื่อได้ เรามี Social Network ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ วาทกรรมต่าง ๆ แม้กระทั่งบอกว่าถ้ามีลูกจะไม่ให้เรียนนิเทศศาสตร์ การเรียนการสื่อสารนั้นไม่จำเป็น หรือว่าแนวคิดพื้นฐานของ Journalism จริง ๆ จะหายไปแล้ว แต่ก็โชคดีที่มันคงจะไม่เป็นแบบนั้น ในที่สุดหลังจากที่ได้ทีการเปิดให้โหวตและเสนอชื่อ Candidate ต่าง ๆ นานา TIME Magazine ก็ได้ประกาศชื่อ Person of the Year 2018 แล้ว ซึ่งก็คือ “The Guardians and the War on Truth” ผู้พิทักษ์และสงครามบนความจริง

สำหรับความหมายของมันก็คือนักข่าวนั่นเอง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาความปั่นป่วนได้คืบคลานเข้าไปอยู่ในทุกที่บนโลก เรามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ถูกแทรกแทรง เรามีสงครามและการโต้ตอบกันอย่างรุนแรงระหว่างประเทศ เรามีประเทศที่ผู้นำเป็นเผด็จการและใช้อำนาจข่มขู่สื่อ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ Misinformation และ Fake News

ในปี 2017 ที่ผ่านมา Fake news กลายเป็น Word of the Year หรือคำแห่งปี โดย The American Dialect Society ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ อย่างที่ทุกคนน่าจะรู้กันดีจากวาทกรรมที่บอกว่า “ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้” ด้วย Social Media และความไวของโลกออนไลน์ การที่ใคร ๆ เป็นสื่อได้นั้น กำลังทำลาย Journalism และ Media แบบเดิมอยู่หรือเปล่า ?

ในขณะที่เว็บข่าวคุณภาพต่ำ (Poor Journalism) กำลังสร้างบทความ Clickbait เพียงเพราะแค่ต้องการมีพื้นที่อยู่บนหน้า News Feed ในขณะที่ Fake News ถูกส่งต่อกันไปเพื่อประโยชน์ของรัฐในการได้มาซึ่งอำนาจ มีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่ไม่ได้แตกต่างไปในทางปฏิบัติมาก พวกเขาเขียนบทความ, ถ่ายคลิปวิดีโอ และเล่าเรื่องราวเหมือนกัน เพียงแต่ภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ่นกับพวกเขาได้ มันมากถึงขั้นตาย

TIME Magazine ในปีนี้แบ่งปก Person of the Years เป็น 4 ปกด้วยกัน ปกแรก อุทิศแด่นักข่าวที่ชื่อว่า Jamal Khashoggi ผู้ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดหลังจากที่ได้วิพากษ์วิจารณ์ มูฮัมหมัด บิน ซัลมาน มงกุฏราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียในประเด็นเรื่อง Freedom of Speech ภาพที่หลุดออกมาทางอินเทอร์เน็ตเผยให้เห็นศพของเขาถูกหั่นด้วยเลื่อย จนไม่เหลือชิ้นดี คำสุดท้ายที่เขาได้ถูกคือ “I can’t breathe” เหตุการณ์นี้ทำให้เราพูดกันไม่ออก และดูเหมือนว่ามงกุฏราชกุมารผู้ครองอำนาจและอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ก็ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป

สำหรับ ปกที่สอง คือเรืองราวของหนังสือพิมพ์ Capital Gazette ที่ถูกโจมตี และเป็นข่าวในวันที่ 28 มิถุนายน 2018 นักข่าว 5 คน ถูกยิงเสียชีวิตจากการบุกเข้าไปถึงห้องข่าวของพวกเขาที่มลรัฐ Maryland จากเหตุผลด้านความแค้นส่วนตัวของมือปืนที่ต้องการจะ “ฆ่าให้ได้มากที่สุด” ตามรายงานของเว็บ The Guardian

นิตยสาร TIME เรียกพฤติกรรมนี้ว่า Anti-journalism หรือการปิดปากสื่อ ทำไมการเล่าเรื่องถึงได้กลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ TIME ยังได้พูดถึงแม้กระทั่งกรณีที่ Donald Trump ด่านักข่าวว่า “เป็นศัตรูของอเมริกันชน” หรือบอกว่าสำนักข่าวนู้นนี่เป็น fake news

ปกที่สาม เป็นเรื่องราวของนักข่าว Reuters สองคนที่ทำสารคดีเล่าเรื่องราวของชาวโรฮิงญา และการที่เมียนมาร์ปฏิบัติอย่างทารุณต่อพวกเขา สิ่งนี้ทำให้เมียนมาร์จับ Kyaw Soe Oo และ Wa Lone และ ปกที่สี่ เป็นเรื่องของ Maria Ressa บรรณาธิการเว็บไซต์ Rappler ในประเทศฟิลิปินส์ ที่ตีแผ่ความโหดร้ายและการใช้อำนาจอย่างโหดเหี้ยมของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte เขาถูกสั่งจำคุกเป็นเวลากว่า 10 ปี

เรื่องราวไม่ได้มีแค่นี้ ในบทความพิเศษของ TIME ในหัวข้อ THE GUARDIANS AND THE WAR ON TRUTH ได้พูดถึงภาพรวมของวงการ Journalism ในโลกปัจจุบันอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ประเด็นสำคัญหลาย ๆ ประเด็นที่ถูกกล่าวถึงได้แก่

  • สิทธ์ิที่จะพูดความจริง และเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้โลกฟัง
  • อำนาจนิยมและการควบคุมหรือการใช้งานสื่อเป็นเครื่องมือสู่อำนาจ
  • ความปั่นป่วนจาก Social Media ข่าวปลอม (Fake News) และสื่อคุณภาพต่ำ (อ่าน ประเภทของ Fake News)

สามเรื่องนี้เหมือนจะอภิปรายออกมาแยกกันได้ แต่จริง ๆ แล้วแต่ละอันส่งเสริมกันและกัน อย่างกรณีตัวอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เราได้เห็นการแทรกแทรงซึ่งเกิดจากความต้องการสู่อำนาจ และ Fake News, Social Media ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้การครองอำนาจ “ง่ายขึ้น” และสุดท้ายสิทธิ์ที่จะบอกเล่าเรื่องจริงก็จางลงไป

Facebook, Google, YouTube และสื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในมือของเราขับเคลื่อนด้วยอัลกอริทึม Social Media สร้างโลกให้เราขึ้นมาอีกโลกหนึ่ง ที่เรากล่าวถึงกันบ่อยมาก ๆ อย่างในเรื่อง Echo Chamber หรือห้องแห่งเสียงก้อง Vera Jourova จาก European Union Commissioner for Justice บอกว่า เราเหมือนโตมาในโลกที่ถูกโอ๋ด้วยอัลกอริทึมตลอดเวลา แล้วก็บอกว่าพวกเขา (บรรดานักข่าว) คงต้องเจออะไรอย่างหนักในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้

TIME ยกย่องบุคคลเหล่านี้ให้เป็น “The Guardian” หรือผู้พิทักษ์ ที่ทำ “War on Truth” สงครามเพื่อเปิดเผยความจริง เราไม่สามารถสร้างความจริงขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง (แม้ว่ารัฐบาลพยายามจะทำ) แต่ความจริงที่เราต้องการคือสิ่งที่มันเป็น และสิ่งที่ทุกคนควรจะได้รู้ สิ่งนี้เราไม่สามารถสร้างขึ้นได้ แต่เราเลือกได้ที่จะปกป้องมัน

ในโลกนี้ The Guardian ไม่ใช่แค่บุคคลบนปก TIME แต่เป็น “นักข่าว”, “นักหนังสือพิมพ์” หรือรวมถึงคนทำคอนเทนต์ทุกคน จริงที่ว่าทุกวันนี้ใคร ๆ ก็เข้าถึง Social Media ได้ ใคร ๆ ก็สามารถที่จะเขียน Blog หรือส่ง Message ถึงคนหมู่มากได้ แต่ความเป็น Journalism และ The Guardian ไม่ได้อยู่ที่การใช้เครื่องมือ มันอยู่ที่เจตนา เจตนาที่จะปกป้องความจริง

TIME ได้ยกเรื่องราวจากนักข่าวทั่วโลก Can Dündar อดีตบรรณาธิการบริหาร Cumhuriyet บอกว่า “เราอยู่ในโลกที่ผู้นำกลัวเสรีสื่อและความจริง เมื่อคุณปกป้องความจริงเรื่องราวนั้นจะเกี่ยวกับตัวคุณ” Dündar กำลังจะอธิบายสิ่งที่เราเรียนมาว่า สื่อจะต้องไม่ใส่เรื่องราวหรือความเป็นตัวตนของตัวเองเข้าไปในข่าว แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ได้เป็นฝ่ายที่เลือกได้


ทีมงาน RAiNMAKER ได้สรุปบทเรียนสำคัญ 10 ประเด็นจากเรื่องราวด้านบนนี้ โดยหวังว่าจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้คนทำคอนเทนต์ หรือผู้เสพสื่อทุกคนหันมาสร้างโลกที่ดีขึ้น และร่วมพิทักษ์ความจริงไปพร้อมกับบรรดานักข่าวที่ยอมแลกแม้กระทั่งชีวิต

  1. ในขณะที่เรากำลังอยู่ในกับดักของ Poor Journalism คอนเทนต์ฉาบฉวย ข่าวปลอม ข่าวก็อป และการใช้สื่อเพื่อครองอำนาจ มีคนอีกกลุ่มนึงของโลก เสี่ยงชีวิตอยู่ พวกเขาเสี่ยงชีวิตในสงคราม เป็นเชลย ถูกสังหาร ถูกลักพาตัว
  2. เราอยู่ในโลกที่ Social Media โอ๋เราด้วยการให้เห็นสิ่งที่เราอยากจะเห็น ให้ฟังสิ่งที่เราอยากจะฟัง
  3. Fake News จะคอยหลอกหลอนเราไปอีกนาน ซึ่งเราแก้ Fake News ไม่ได้ แต่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้ด้วยการทำความเข้าใจ และแนวคิด Credibility Source
  4. วิมตินิยม การตั้งคำถาม ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยต่อสู้กับ Fake News
  5. อำนาจนิยมไม่เคยหมดไป แต่มันอยู่ในรูปแบบของการครองพื้นที่สื่อ ในโลกที่เสียงของทุกคนดังไม่เท่ากัน ผู้ที่ครอบครอบ “เครื่องขยายเสียง” ที่ดังที่สุด มีสิทธิ์ที่จะกลบเสียงที่เบากว่าและสร้างมายาคติให้คนที่ฟังเชื่อว่าเสียงที่ได้ยินคือเสียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
  6. ในการพิทักษ์ความจริงสิ่งที่ต้องต่อสู้ มีทั้งอัลกอริทึมและความเสียนิสัยของคนบนโซเชียล แต่ยังรวมถึงอำนาจนิยม อำนาจที่มองไม่เห็น อย่างกรณีของ Khashoggi สิ่งที่เขาได้รับคือการฆาตกรรมหั่นศพ
  7. เราจะถูกสอนกันมาว่าสื่อต้องไม่ใส่เรื่องราวของตัวเองลงไป ซึ่งสิ่งนั้นไม่จำเป็นเลย เพราะสุดท้าย ถ้าเราท้าทายต่ออำนาจได้เรื่องราวนั้นจะถูกบอกเล่า แล้วเราจะกลายเป็นเรื่องราวเสียเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  8. ไม่ใช่แค่ในอเมริกา รัสเซีย หรือในเอเชีย แต่ทั่วโลกกำลังเจอสิ่งเดียวกัน อำนาจนิยมและความโง่เขลา (ignorance) กำลังส่งเสริมกันและสร้างโลกที่น่ากลัวกว่าเดิม
  9. นักข่าวคือหนึ่งในอาชีพที่ถูกคุกคามมากที่สุด ตั้งแต่การดูถูก (ชัด ๆ เลยก็จาก Trump) จากสังคมที่คิดว่าใคร ๆ ก็ทำได้ หรือในด้านความรุนแรง การทำร้าย กักขัง และการสังหาร เพื่อให้พวเขาหยุดพูด
  10. “The Guardian” คือผู้พิทักษ์ความจริง พวกเขาไม่ได้สร้างความจริง เพราะเราสร้างความจริงจากคนคนเดียวหรือมุมมองมุมมองเดียวไม่ได้ แต่พวกเขาพิทักษ์ความจริงให้คงอยู่

สุดท้ายแล้วก็สมเหตุสมผลที่ TIME ได้ยกย่องให้ “นักข่าว” ด้วยการใช้คำว่า The Guardian หรือผู้พิทักษ์เป็นบุคคลแห่งปี 2018 ที่นับว่าความยากลำบากเดินทางมาถึงกลางทางแล้ว แล้วเราก็ได้เห็นทั้งในด้านที่ดี ด้านที่ไม่ดี และด้านที่แย่มาก ๆ ของโลกที่มี Social Network ทั้งหมดนี้ก็หวังว่า เราในฐานะผู้เสพคอนเทนต์เราจะมีส่วนช่วยให้มันกลายเป็นด้านดี ส่วนถ้าให้พูดในฐานะคนทำคอนเทนต์แล้วละก็ จงภูมิใจว่าสิ่งที่เรากำลังทำ ไม่ใช่แค่เขียนข่าวให้คนอ่าน แต่เรากำลังพิทักษ์ความจริง สิ่งที่หายากที่สุดในยุค Post Truth นี้ด้วยความสามารถของเราเอง

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save