เหตุผลที่ไม่ควรโพสแบบเดียวกันในแต่ละโซเชียล ใครกำลังก็อปวางเลิกซะ

แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้ไม่ว่าเราจะเป็นแบรนด์หรือคนทำคอนเทนต์ บล็อก เพจ หรืออะไรก็ตาม การมีช่องทางสื่อสารช่องทางเดียวนั้นเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าเสี่ยงชีวิตมาก โดยเฉพาะการฝากชีวิตไว้กับ Facebook ดังนั้นเราเชื่อว่าทุกคนคงมีหลายช่องทางในการสื่อสารหรือกระจายคอนเทนต์ (ใครที่ไม่มีก็รู้ตัวไว้ว่าควรมีซะ) ไม่ว่าจะเป็น Twitter, Instagram, LINE หรือแม้กระทั่งการทำ SEO เพื่อให้คอนเทนต์ของเราถูกถึงมาแสดงใน Google

อย่างไรก็ตามนั้นเราก็ควรเข้าใจว่าแต่ละโซเชียลนั้น ธรรมชาติของผู้ใช้งานก็จะแตกต่างกันออกไป และรูปแบบที่แต่ละโซเชียลเปิดโอกาสให้ลงคอนเทนต์ก็จะแตกต่างกันไปด้วยทั้งในเชิงความรู้สึกและในเชิงภาพที่แสดงออกมา โดยในบทความนี้จะเรียกการโพสต์คอนเทนต์เหมือน ๆ กันว่าการทำ cross-posting ซึ่งการทำ cross-posting นั้น นับรวมตั้งแต่การทำรูปรูปเดียวแล้วเอาไปลงในทุกโซเชีย หรือลงลิ้งบทความ แล้วพิมพ์แคปชั่นเหมือน ๆ กัน หรือแม้กระทั่งการไม่ยอดตั้่ง Meta Data สำหรับแต่ละโซเชียลและ Search Engine

เหตุผลที่ไม่ควรโพสแบบเดียวกัน

ใครที่กำลังทำอยู่บอกเลยว่าให้เลิกซะ เนื่องจากแต่ละ Social Network นั้นให้คนละอารมณ์กัน โดยทาง Link Humans ได้เรียกวิธีการโพสอะไรเหมือน ๆ กันว่า cross-posting และได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจไว้ดังนี้

  • แต่ละโซเชียแสดงผลไม่เหมือนกัน ภาพชุดใน Facebook ที่ชอบทำกัน (มีปกอันนึงเป็น 4:3 ส่วนรูปที่เหลือเป็น 1:1) เอาไปโพสต์ใน Twitter แล้วเละ รวมถึงการโพสรูปอัตราส่วน 1:1 เป็นอะไรที่แย่มากกับ Twitter เพราะ Twitter จะเอาไปทำเป็น 4:3 หรือ Instagram ก็มีฟีเจอร์ใหม่เป็นสามารถโพสต์รูปให้เลื่อน ๆ ได้ แต่จะไม่โชว์ภาพตัวอย่าง โชว์แค่ว่ามีกี่ภาพถ้าอยากดูก็ต้องเลื่อนดูเอง ดังนั้น การจะโพสอะไรก็ตามลงบนแต่ละโซเชียลก็ให้ดูด้วยว่าการแสดงผลเป็นอย่างไร

  • ฟีเจอร์ที่ไม่เหมือนกันของแต่ละโซเชียล  ในทวิตเตอร์จะมีการให้ความสำคัญของ # มากกว่า Facebook รวมถึงมีการใช้ @user มากกว่าด้วย รวมถึงการ Tag ใน Facebook ก็สามารถทำได้ทั้ง Tag ในแคปชั่นหรือ Tag ว่า with แค่นี้ความหมายหลายอย่างก็ต่างกันแล้ว

  • พฤติกรรมการใช้งานและอัลกอริทึม Twitter จะมีอัลกอริทึมการเลือกโพสต์มาแสดงไม่เหมือนกับ Facebook ซึ่งน่าจะทราบกันว่า Twitter จะเลือกแสดงผลจากโพสต์ล่าสุดก่อน แต่ Facebook นั้นจะมีวิธีการที่ต่างกันไป (ไม่อธิบายแล้วกันว่าแบบไหน เพราะเดี๋ยวมาร์คก็เปลี่ยนอีก) หรืออย่างบางรายเช่น The MATTER ก็แก้ปัญหาโพสต์ได้ไม่ยาวด้วยการแคปตัวหนังสือมาให้อ่านเลยทีเดียว นับว่าก็สะดวก ไม่ต้องลงทุนทำคอนเทนต์ใหม่ และได้ผลดี
  • คนอ่านดูออกว่าขี้เกียจ จริง ๆ เราอาจจะไม่ได้ขี้เกียจหรอกอย่างที่บอกไป คนคนเดียวไม่สามารถที่จะ active แล้วดูแลได้ทุกโซเชียลได้ หรือสุดท้ายถ้าเรา active ขนาดนั้นจริง แต่การทำงานเหมือน ๆ กันหรือกับหัวข้อเดิม ๆ ก็อาจจะบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ได้ แต่สุดท้ายแล้วคนอ่านเขาไม่ได้รับรู้และเข้าใจตรงนั้น

คอนเทนต์สำหรับโซเชียลและสำหรับ Search Engine

หลังจากที่รู้กันแล้วว่าการโพสต์แบบเดียวกันในแต่ละโซเชียลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วโซเชียลแต่ละตัวควรโพสต์แบบไหนดี นี่คำแนะนำจากบทความของ Social Media Online Class ว่าด้วยเรื่องการโพสต์ในแต่ละโซเชียลควรมี Check-list อะไรบ้าง

  • Facebook สิ่งที่คน Engagement มากที่สุดยังคงเป็นวิดีโอ (อ้างอิงจาก Zocial Award 2018) แต่เราจะพูดถึงเรื่องรูปก่อน รูปนั้นควรเป็นแบบ 4:3 หรือ 1:1 ก็ได้ หรือจะลงเป็นภาพชุด เพราะ Facebook แสดงรูปตามอัตราส่วนจริง สามารถทำการ tag เพจอื่นได้ตามความจำเป็น ใส่ Hashtag ล่างแคปชั่น และอย่าลืมบอกให้คนดูกดไลค์เพื่อเตือนความจำคน เช่น ใส่ท้ายแคปชั่นว่า “กดไลค์เพจ RAiNMAKER” แล้วก็ Tag เพจด้วย
  • Instagram คนดู IG จะเน้นที่ความสวยงามของรูปเป็นหลัก พยายามโพสต์รูปสวย ๆ งาม ๆ อักษรน้อย ๆ ที่ทำให้คนหยุดเลื่อนหน้าจอเพื่อมาดูได้ ใส่แคปชั่นสั้น ๆ และเน้นไปที่ Hashtag

  • Twitter เฉลี่ยแล้วโอกาสที่ทวีตของเราจะไปปรากฏบน Newsfeed มีแค่ 20 นาที หลังกดโพสต์เท่านั้น จากนั้นมันจะจมหายไป จงใช้โอกาสนี้ให้คุ้มค่าที่สุด การรีทวีตคือการต่ออายุ เขียนให้สั้น เคลียร์ ดูฉลาด ถ้าโพสต์ยาวสามารถเมนชั่นตัวเองแล้วใส่ว่า มีต่อ หรือ ใส่เลขกำกับว่าทวีตไหนมาก่อนมาหลังได้ และที่สำคัญก็คือ เน้นรูปที่เป็น 4:3 และอย่าลืมย่อลิ้ง อ่าลืมว่า Twitter บางทีก็ไม่โชว์ Preview ของลิ้ง ให้ใส่รูปเองแล้วมีลิ้งไปยังบทความหรือเว็บจะดีที่สุด

ส่วนสำหรับ Search Engine นั้น ให้มองรูปแบบแตกต่างไปจากโซเชียลเลย เพราะว่าคน Search Google เพราะต้องการหาข้อมูล แค่หัวข้อที่ใช้ก็จะต่างกันแล้ว พยายามใช้คำว่า “สรุป” “รวม” “รายละเอียด” “รวมทุกเรืองที่เกี่ยวกับ” ให้ความน่าเชื่อถือและดูน่ากดเข้าไป แทนการใช้หัวแนว ๆ ข่าว เช่นบนโซเชียลอาจจะใช้คำว่า “เรื่องเล่ายานแคสสินี ยานอวกาศผู้สำรวจดาวเสาร์” แต่สิ่งที่แสดงบน Google ควรใช้คำแนว ๆ “สรุปข้อมูล ประวัติ และภารกิจของยานแคสสินี เจาะลึก” ใครที่ใช้ WordPress แนะนำให้ใช้ปลั๊คอินชื่อ Yeost SEO ตัวนี้ดีมาก สามารถปรับ meta ได้ทุก Social และ SEO ด้วย

เพราะอย่าลืมว่า คนเขา Search Keyword นั้นมาก็เพราะเขาต้องการจะหาเรื่องนั้น หรือทราบอะไรแนว ๆ นั้นมาบ้างแล้วและต้่องการหาข้อมูลเพิ่มเติม ไม่เหมือนกับโซเชียลที่อยู่ดี ๆ ก็โผล่ขึ้นมา

เปลี่ยนจาก cross-posting เป็น cross-promoting

สุดท้ายแล้ว Link Humans ให้เปลี่ยนมุมมองว่าการที่เราทำหลายโซเชียล ไม่ใช่ให้โซเชียลมารองรับเรา แต่เราต้องรองรับแต่ละโซเชียลต่างหาก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการโปรโมต ไม่ใช่แค่การโพสต์ ดังนั้นสุดท้ายแล้วถ้าเรายังมองมันเป็น cross-posting เราก็จะแค่มี social ตัวนั้นแต่ผู้ติดตามก็ไม่ได้เยอะ และเราก็ยังยึดติดกับช่องทางหลักของเราอยู่ (เห็นได้บ่อยกับการที่บางเว็บเปิด Twitter ไว้เพื่อให้แค่ว่ามี)

ดังนั้นมาเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมและมุมมอง อย่ายึดติดกับช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ถ้าเรายังต้องการมีตัวตนอยู่ให้มองว่าเราเป็นแบรนด์แบรนด์หนึ่งหรือ Publisher อย่ามองว่าเราเป็นเพจหรือเว็บหรือบล็อก ไม่งั้นเราอาจจะต้องฝากชีวิตไว้กับช่องทางนั้นแล้วซักวันนึงเราอาจจะต้องปวดหัวเหมือนกับที่หลายเพจกำลังปวดหัวกับ Facebook ปัจจุบันก็ได้

อ้างอิง

Social Media Online Class

Link Humans

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save