สรุปกระแสและตัวเลข หลัง The Standard จัดดีเบตดีมาก จนหลายสำนักต้องชื่นชม

ใกล้การเลือกตั้งเข้ามาทุกที เราได้เห็นการจัดเวทีดีเบตสำหรับพรรคการเมืองต่าง ๆ มาเยอะทั้งจากทางช่องทีวีเอง หรือทางสื่อใหญ่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไทยรัฐ Workpoint หรือ ช่องนู้นนี้เต็มไปหมด แต่มีสื่อรายหนึ่งที่เพิ่งต่อตั้งมาได้ 2 ปีและเป็นเว็บไซต์ที่สามารถก้าวเข้ามาจัดดีเบต โดยเชิญตัวแทนพรรคระดับแคนดิเดตนายกมาได้ค่อนข้างครบถ้วนสมน้ำสมเนื้อก็คือ The Standard

ในขณะที่เราได้เห็นสื่อใหม่ในไทยเข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งครั้งนี้ The MATTER ร่วมกับ Boonme Lab ทำเว็บไซต์ Elect.in.th หรือทาง iLaw ที่ออกมาให้ความรู้ด้านการเลือกตั้งอย่างจัดหนักจัดเต็มสมกับเป็นเว็บให้ความรู้ด้านกฎหมายและเสรีภาพ ในขณะที่เจ้าอื่น ๆ ก็ทำบทความสัมภาษณ์พรรคการเมืองนักการเมืองกันจนเห็นได้ทั่วไป ทาง The Standard ก็เล่นใหญ่ด้วยการจัดดีเบตซะเลย

สำหรับดีเบตที่เราจะจดจำกันได้ก่อนหน้านี้ก็เช่น ของทางไทยรัฐทีวี ซึ่งตอนนั้นทำให้เกิดกระแส แล้วมันผิดตรงไหน หรือกรณีของช่องวัน ที่แอบมีดราม่านิด ๆ ส่วนของ The Standard วันนี้ก็ถือว่ามาช่วงเดียวกับที่คุณอภิสิทธ์ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันโอชา สืบเนื่องมาจนถึงการดีเบตช่วงบ่ายที่ทำให้เกิดบทสนทนาต่อไปได้อีกยาว ๆ

ในบทความนี้เราจะมาดูว่า The Standard ทำอย่างไรให้จากตัวเองที่เป็นสื่อออนไลน์ หรือสื่อใหม่ แต่สามารถจัดเวทีดีเบตได้ไม่แพ้ไทยรัฐ หรือ Workpoint เลย

การ Live Stream นี้เป็นการร่วมมือระหว่าง The Standard และ Thai Livestream ซึ่งเป็นบริการถ่ายทอดสดออนไลน์ ที่ทำผลงานออกมาได้ดีและมีชื่อเสียงในการ Stream งานต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

รูปแบบการจัดของ The Standard แปลกใหม่ยังไง

สำหรับคนที่ไม่ได้ดู วิธีการจัดของ The Standard จะแบ่งเป็น 3 รอบ คือการ Piching, Battle และ Question ตอนแรกคือให้ตัวแทนแต่ละพรรค พูดเหตุผลที่ประชาชนต้องเลือกตัวเองในเวลา 3 นาที ไม่จำกัดรูปแบบการนำเสนอ ซึ่งตรงนี้สนุกมากเพราะเราได้เห็นแต่ละพรรคออกมาใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก บางคนมาแนวดุดัน บางคนมาแบบอ้อน บางคนยิงประเด็น ถือว่าสนุกสนานพอสมควร

ในช่วงที่ 2 คือ Battle โดยแต่ละพรรคจะจับสลากเพื่อให้ได้พรรคที่ตัวเองจะต้องดีเบตด้วย โดยแต่ละพรรคจะมีประเด็นที่เลือกมาเอง 1 ประเด็น ดังนั้นแต่ละพรรคจะได้ Battle ใน 2 ประเด็น ที่ตัวเองเลือก 1 ประเด็นและที่พรรคอื่นเลือก 1 ประเด็น ตรงนี้จะมีกิมมิกตรงที่ หน้าจอจะมีชวนให้คนกด Reaction ว่าชอบใคร (ซึ่งก็คือ Reaction ของ Facebook นั่นแหละ ถือว่าเอามาใช้ได้สร้างสรรค์มาก)

และสุดท้ายคือการตอบคำถามจากทางบ้าน ซึ่งก็เป็นการเลือกประเด็นผ่าน # บน Social Media ต่าง ๆ มาตอบ สุดท้ายก็มีประเด็นต่าง ๆ ที่สามารถนำมาเป็นบทสนทนาต่อออนไลน์ได้  โดยพิธีกรในการจัดดีเบตครั้งนี้คือคุณ ต๊ะ พิภู ที่เราคงจะเห็นกันบ่อยใน Live ของ The Standard อยู่แล้ว หลายคนก็ชมว่าคุณต๊ะทำหน้าที่ได้สนุกสนานเลยทีเดียว

สรุปสถิติและตัวเลขที่เกิดขึ้นบนออนไลน์

สำหรับตัวเลขที่น่าสนใจบนออนไลน์ของการจัดครั้งนี้ที่ทีมงาน RAiNMAKER รวบรวมมาภายในเที่ยงคืนของวันที่ 10 มีนามคม ก็ถือว่าน่าสนใจมาก

  • มียอดการชมทั้งหมด 675K หรือ หกแสนกว่าวิวในเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 12 ชั่วโมง
  • ยอดแชร์บน Facebook อยู่ที่ 20,000 ++
  • คนกดไลค์และ Reaction อยู่ที่ 33,000 ++
  • ยอดดูบน YouTube อยู่ที่ 100,000 ++

นอกจากนี้ทาง The Standard เองยังได้ตัดคลิปบางส่วนออกมาลง Social ของตัวเองและบน YouTube ด้วย ยอดชม ณ เวลาเดียวกับที่เก็บสถิติด้านบนก็อยู่ที่หลักพันจนถึงหลักหมื่นในแต่ละคลิป แต่รวม ๆ กันแล้วก็อยู่ที่หลักแสน นับว่าเยอะพอสมควร

นั่นหมายความว่าทาง The Standard มีทีม Live และทีมอัพคอนเทนต์แยกกัน เลือกประเด็นมาลงบนออนไลน์ได้เลยทันที และตอนท้ายยังมีการตัดคลิปที่เป็น Aftermatch หรือหลังการดีเบตมาให้ชมด้วย

สำหรับบนช่องทางอื่น ๆ เราเห็น The Standard Live บน Twitter ด้วยเช่นกัน แต่ยอดการ Retweet ก็ไม่ได้สูงมาก อยู่ที่ 4,000 กว่า ๆ เท่านั้น และมียอดวิวเพียงแค่ 52,000 วิว (แปลว่าคนไม่ค่อยดู Live บน Twitter กันหรือเปล่า ?)

ในขณะที่คอนเทนต์ที่น่าจะเหมาะสมกับทวิตเตอร์มาก ๆ (ซึ่งหลายคนก็พอจะเดาออกอยู่แล้ว) คือการแคปจอ แล้วพิมพ์ประเด็นสิ่งที่คนคนนั้นกำลังพูด พร้อมติด #TheStandardDebate ซึ่งทาง The Standard ก็ทำออกมาเป็นะระยะ ๆ ตลอดการดีเบต อันที่คนรีเยอะที่สุดก็คือ คุณมิ่งขวัญ ที่พูดเรื่องนโยบายเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ตามมาด้วยเรื่องของคุณธนาธร #ฟ้ารักพ่อ

คอนเทนต์ Live + Real-time

กรณีนี้น่าสนใจ แถมหลาย ๆ ที่ก็ทำ คือเมื่อนักการเมืองพูดอะไร คอนเทนต์นั้นควรจะไปอยู่บนออนไลน์ทันที ซึ่งเราได้เห็นกันมาตั้งแต่ตอนไทยรัฐทีวีแล้ว ที่จะมีทีมคอยทำคอนเทนต์ สำหรับในส่วนนี้ The Standard ก็ทำเช่นกันบนทุกช่องทางทั้ง Facebook และ Twitter และบนหน้าเว็บไซต์ของ The Standard เองก็ได้นำประเด็นจากการดีเบตมาทำเป็นคอนเทนต์ คลิปวิดีโอ Embed มาจาก YouTube และฉบับตัวอักษรต่อได้อีก

ส่วนบน Instagram นั้นก็เล่นจัดเต็มทั้งคอนเทนต์บน IGTV รูปภาพ วิดีโอ และ Story มีเบื้องหลังบรรยากาศงานต่าง ๆ ด้วย แถมคอนเทนต์ Graphic ต่าง ๆ ก็ไม่เหมือนกับบน Twitter, Facebook หรือ Platform อื่น ไม่ใช่แค่เอาคอนเทนต์อันอื่นมาลง

เรียกได้ว่ารอบนี้ The Standard จัดเต็มทั้ง Live + Social + Web Content เลยทีเดียว ทำคอนเทนต์ลงทุกรูปแบบ แถมทำแบบ Real-time ด้วย ถ้าพูดในเชิงว่าเป็นสื่อใหม่ก็คือว่ามี Power มาก ๆ อีกหนึ่งช่องทางที่ Live ก็คือทาง LINE Today ซึ่งเจาะกลุ่มผู้ใช้งาน LINE

เสียงตอบรับหลังงาน

ทำเยอะขนาดนี้เสียงตอบรับหลังงานก็ดีสมน้ำสมเนื้อ มีการไปโพสต์ถามให้คนมา Reflect ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งทางนักการเมืองและคนดูเองก็ได้พูดออกมา ซึ่งเราสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ออกมาได้ดังนี้

  • หลายคนชมเรื่องความสร้างสรรค์ จัดให้เป็นเหมือนเกม กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าไม่น่าเบื่อ
  • คุณอภิสิทธ์ิบอกว่าอยากให้มีเวทีแบบนี้อีก ส่วนคุณสุดารัตน์บอกว่าตอนแรกแอบงง ๆ เพราะยังไม่เข้าใจกติกาแต่ชื่นชมในความสร้างสรรค์ คุณเสรีพิศุทธ์ บอกว่าเกินเวลาไปนิด คุณมิ่งขวัญบอกการจับฉลากทำให้ต้องคิดเยอะมาก
  • โดดเด่นตรงการแสดงความคิดเห็นโต้กันไปโต้กันมาได้ ไม่ใช่แค่ตอบคำถามแล้วจบ
  • คนดูทางบ้านหลายคนบอกว่าเวลาน้อยไปนิด ส่วนคนที่ไปชมสดที่สตูดิโอบอกสถานที่แคบไป

ในฝั่งของคนทำสื่อนั้น คุณเคน นครินทร์ บรรณาธิการบริหาร The Standard ได้โพสต์ลงใน Facebook ส่วนตัว ว่าคุณสิทธิชัย หยุ่น ก็ได้ทักมาแสดงความยินดี ในขณะที่เพื่อนคนทำสื่อต่าง ๆ ก็ต่างชื่นชม ในขณะที่คุณ เอม-นภพัฒน์จักษ์ จาก Workpoint ที่จัดในแนวเดียวกันมาแล้วก่อนหน้านี้ ก็โพสต์ลงบน Facebook ส่วนตัวเช่นกันว่าจัดได้อย่างแปลกใหม่ สนุก

สำหรับในมุมของ RAiNMAKER เองมองว่าเป็นการจัดที่ค่อนข้างแปลกใหม่ และสร้างสรรค์กว่ายกป้าย เพราะเข้าใจว่าทาง The Standard พยายามลดการ Judge ลงให้น้อยที่สุด อย่างสังเกตตอนที่ให้คนกด Reaction เพื่อเชียร์พรรคที่ตัวเองชอบ (จากเดิมเราจะเห็นกันแต่กด Love และ Angry รัว ๆ) สำหรับ Real-time Content ถือว่าครบมาก มีส่วนที่ต้องติเล็กน้อยคือ เวลาน้อยไปและบางช่วงมีเบื่อบ้าง และเหมือนบางพรรคยังเตรียมตัวไม่ค่อยพร้อม หรือไม่เตรียมตัวเลย ถ้าเตรียมตัวมาพร้อมจะสนุกกว่านี้อีก

ในมุมของคนทำสื่อนั้นถือว่า The Standard ก้าวจากการเป็นสื่อออนไลน์ สื่อ macro-media หรือ new media ขึ้นมาจัดเวทีใหญ่ ๆ ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องก็เจ๋งมาก ๆ และน่าติดตาม

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

 

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save