ฝันให้ไกลต้องไปให้ถึง: “สมาคมครีเอเตอร์ไทย” ความหวังใหม่หรือฝันกลางวัน?

เดินทางมาสู่บทสรุปของซีรีส์คอนเทนต์ #Saveครีเอเตอร์Zone แล้ว RAiNMaker จะพาทุกคนมาสำรวจความเป็นไปได้ของการสร้างเซฟโซนให้คนในวงการคอนเทนต์กับ “สมาคมครีเอเตอร์ไทย” พื้นที่แสดงความเป็นครีเอเตอร์ได้อย่างอิสระ พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐตระหนักถึงพลังของพวกเขาและให้การสนับสนุนพวกเขามากขึ้นภายใต้ร่มเงาของสมาคมกัน!

อนาคต และก้าวต่อไปของ ‘Creator Economy’ ไทย

อย่างที่กล่าวไว้ในบทความของ #Saveครีเอเตอร์Zone ก่อนหน้านี้ว่าวงการ Creator Economy ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาก ๆ เหตุเพราะใคร ๆ ก็เป็นครีเอเตอร์ได้ ขอเพียงแค่กล้าลุกขึ้นมาจับปากกา หยิบกล้องขึ้นมาถ่าย แล้วหาแพลตฟอร์มลง คุณก็สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้แล้ว

อ่านได้ในบทความ เบิกตัวละครลับ ‘Content creator’ นำ Soft Power ไทยโกอินเตอร์ สู่เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย!

นอกจากนี้ หลัง ๆ เราสังเกตได้ถึงภูมิทัศน์ของเหล่าคนทำคอนเทนต์บน YouTube ซึ่งค่อย ๆ กลายมาเป็น “คอมมูนิตี้” ที่เหนียวแน่นขึ้น โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ การรวมตัวกันของ YouTuber และ Influencer ที่มีหลากหลายสายมากขึ้น ทั้งไลฟ์สไตล์ กิน เต้น ร้อง จนเกิดเป็น ‘ยกกำลัง’ ช่องที่มีผู้ติดตามใน YouTube กว่า 7 แสนคน และถือเป็นช่อง YouTube รวมตัวครีเอเตอร์ไทยที่ทรงอิทธิพลทั้งในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงานเลยก็ว่าได้

อ่านบทวิเคราะห์ความสำเร็จของช่องยกกำลังได้ที่ “ถอดรหัสทำคอนเทนต์จาก 3 YouTuber ไทยมีแววไปไกลสู่สายตาชาวโลก” 

ซึ่งจากวิดีโอสัมภาษณ์สุดพิเศษของ RAiNMaker ร่วมกับคุณ ‘อิสระ ฮาตะ’ จากช่อง ‘Rubsarb Production หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ยกกำลัง’ ก็ได้เข้าใจว่า คอมมูนิตี้ของครีเอเตอร์เกิดจากเทรนด์การทำ ‘Collaboration’ หรือการคอลแลบระหว่างครีเอเตอร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของ YouTube ที่อยากสร้างแพลตฟอร์มให้กลายเป็นแหล่งรวมคอมมูนิตี้ของเหล่าครีเอเตอร์อยู่แล้ว

โดยคอมมูนิตี้ของครีเอเตอร์เป็นเหมือนกลุ่มเพื่อนร่วมอาชีพ ที่สามารถแชร์ฐานแฟนคลับระหว่างกัน เพื่อพาครีเอเตอร์เติบโตไปพร้อม ๆ กับการแข่งขันทำคอนเทนต์ให้กลายเป็นกำไรของคนดูในการเสพคอนเทนต์ข้ามช่องที่มีคุณภาพและหลากหลายมากขึ้น

📌 ดูได้ที่ https://fb.watch/m7iFiZG_Bk/

ในขณะที่สังคมครีเอเตอร์เติบโตเรื่อย ๆ แต่กลับยังมีครีเอเตอร์หลายคนที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน ทั้งในมุมของเทรนด์และแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังขาดความรู้ด้านอาชีพเพื่อต่อยอดให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นไปได้ว่าภาครัฐยังไม่เห็นถึง “เสียง” และ “ศักยภาพ” ของพวกเขามากพอจนนำไปสู่การผลักดันเป็นสายอาชีพหรือ Soft Power ที่ใคร ๆ ก็ต้องสนใจ

“สมาคมครีเอเตอร์” ความหวังใหม่ของคนทำคอนเทนต์

เชื่อว่าการรวมตัวเป็นกลุ่มแบบทางการจะช่วยให้เสียงของครีเอเตอร์มีน้ำหนักมากพอที่จะเรียกร้องความต้องการกับรัฐได้ เหมือนกับวงการภาพยนตร์ที่มี “สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ” คอยรวบรวมคนในคอมมูนิตี้ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จนมีพลังเรียกร้องภาครัฐให้สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ได้สำเร็จ

ซึ่งการจัดตั้งสมาคมครีเอเตอร์ มีแนวคิดที่คล้ายกับจัดตั้ง “สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” “สมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย” และสมาคมอื่น ๆ ที่มีวิสัยทัศน์มุ่งเน้นการรวมตัวคนทำอาชีพเดียวกันให้เป็นกลุ่มทางการ 

เพื่อวางรากฐานกลุ่มอาชีพครีเอเตอร์ให้เข้มแข็งมากขึ้น และสร้างพื้นที่ในการแสดงออกได้อย่างเสรี รวมถึงสนับสนุนเงินทุน อุปกรณ์จำเป็น และอาจร่วมกันสร้างจรรยาบรรณของคนทำคอนเทนต์ได้

แม้ว่าในอนาคตภาครัฐอาจจะมีนโยบายสนับสนุนครีเอเตอร์ในบางจุด แต่ถ้าสุดท้ายครีเอเตอร์ยังไม่มีเสียงที่มีน้ำหนักมากพอ ท้ายที่สุดวงการนี้อาจเติบโตได้ไม่อย่างยั่งยืน การรวมกลุ่มคนทำอาชีพนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลให้ต่อรองอำนาจรัฐในเรื่องต่าง ๆ ได้เหมือนกับสมาคมวิชาชีพอื่น ๆ

ทำไมเรายังก้าวไปไม่ถึงสมาคมครีเอเตอร์?

เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่วงการครีเอเตอร์ไทยเติบโต จนมีคอมมูนิตี้รวบรวมคนมากความสามารถได้หลากหลาย กลับยังไม่มีใครพูดถึงการรวมตัวกันเป็นกลุ่มอย่างทางการ ซึ่งสาเหตุสำคัญ คือ พวกเรายังขาดความเข้าใจคำว่า “อาชีพครีเอเตอร์” อย่างชัดเจน ว่าจริง ๆ แล้วมีกรอบมากน้อยแค่ไหน?

ในความเข้าใจทั่วไป ครีเอเตอร์สามารถจำแนกได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ดังนี้

  • สายคอนเทนต์วิดีโอ อาทิ YouTuber, TikToker, VTuber, Live Streamer
  • สายคอนเทนต์เขียน อาทิ Blogger, Creative Content Creator, Copy Writer

แต่ความยุ่งเหยิงค่อย ๆ เริ่มผุดขึ้นมา เมื่อต้องคิดต่อว่า สายออกแบบอย่าง นักวาด Webtoon, สติ๊กเกอร์ LINE นับว่าเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือไม่? แล้วนักแสดงที่ผันตัวมาทำคอนเทนต์ลงยูทูบนับว่าเป็นครีเอเตอร์หรือนักแสดง? คนที่เป็นนักพากย์เสียงโฆษณาอย่างคุณ ‘KritTone เจ้าของวลี “ดุดันไม่เกรงใจใคร!” ที่หันมาทำคอนเทนต์ลง TikTok จนเป็นไวรัล ก็เป็นครีเอเตอร์ใช่หรือไม่?

ด้วยประโยคที่ว่า “ใคร ๆ ก็เป็นครีเอเตอร์ได้” ทำให้การจัดหมวดหมู่ของอาชีพคนทำคอนเทนต์นั้นยากมาก ๆ เพราะนั่นแปลได้ว่าแม้แต่ TikToker วัย 3 ขวบที่ถ่ายคลิปลง TikTok ก็เป็นครีเอเตอร์ได้น่ะสิ!

พออาชีพครีเอเตอร์มีความจับฉ่ายมากขนาดนี้ จึงทำให้รัฐเพิกเฉยพวกเขาแล้วเหมารวมอุตสาหกรรม ‘Creator Economy’ เข้ากับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ดังที่เห็นได้ในการจัด 15 ประเภท ‘Creative Economy’ ซึ่งไม่มีครีเอเตอร์แยกออกมาเหมือนวงการโฆษณา ภาพยนตร์ ศิลปะและดนตรีเลย 

แม้แต่ในช่วงการเลือกตั้ง ก็ไม่มีพรรคการเมืองไหนชูนโยบาย Creator Economy เป็นภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ต้องเร่งผลักดัน เหมือนวงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์อื่น ๆ 

ดังนั้น ที่ไม่เคยมีใครพูดถึงการจัดตั้งสมาคมครีเอเตอร์เสียที จึงสรุปได้ว่าเป็นเพราะประเภทอาชีพครีเอเตอร์จัดหมวดหมู่ยากมาก ๆ จนรัฐบาลเลือกที่จะเพิกเฉย และไม่เข้ามาทำความเข้าใจ จนสุดท้ายครีเอเตอร์จึงถูกนับเหมารวมเป็นนักสร้างสรรค์ประเภทอื่น ๆ แทน

นโยบาย “Creative Center” ศูนย์รวมความรู้เพื่อครีเอเตอร์

หลายคนอาจมองว่าการจัดตั้งสมาคมนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลารวบรวมเสียงของคนทำคอนเทนต์ให้ได้มาก แถมประเภทครีเอเตอร์นั้นยังแบ่งยากจนไม่รู้ต้องนับใครเป็นครีเอเตอร์ได้บ้าง ทำให้ไม่มีครีเอเตอร์ประเทศไหนสามารถตั้งสมาคมได้สำเร็จเสียที

ทั้งนี้ ก็ใช่ว่าจะไม่มีประเทศไหนที่ไม่จัดทำนโยบายเพื่อสนับสนุนครีเอเตอร์เลย RAiNMaker จึงรวบรวมตัวอย่าง นโยบายและองค์กรภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนครีเอเตอร์โดยเฉพาะ เผื่อเป็นแนวทางสำหรับฝั่งครีเอเตอร์ไทยและภาครัฐไทยนำมาปรับใช้ได้ในอนาคต

แคนาดา: Toronto Public Library “Innovation Hub”

  • มีสตูดิโอสำหรับอัดรายการพอดแคสต์ 
  • มีฉากเขียว (Green Screen) สำหรับการถ่ายทำวิดีโอหรือภาพนิ่ง 
  • มีเครื่องพิมพ์หนังสือเพื่อให้บริการประเภท Self-publishing
  • มีกิจกรรมและงานอีเวนต์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
  • เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ https://www.torontopubliclibrary.ca/

เกาหลีใต้: Center for Creative Economy and Innovation (CCEI)

  • รัฐบาลจับมือกับบริษัทเอกชน เช่น Lotte Samsung Hyundai SK ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในลักษณะร่วมทุน 3 ส่วน เพื่อสนับสนุน Start-up 
  • สร้างศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม 18 แห่งทั่วประเทศ
  • ให้บริการเช่าอุปกรณ์ตามศูนย์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
  • ให้คำปรึกษาในการต่อยอดธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์
  • อำนวยความสะดวกและบ่มเพาะผู้ประกอบการ Startup เพื่อพัฒนานวัตกรรมของท้องถิ่น เช่น จังหวัดคยองกี ที่มีสตาร์ทอัป IoT, Game, Fintech
  • เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ https://ccei.creativekorea.or.kr/

ไต้หวัน: Taiwan Creative Content Agency (TAICCA)

  • องค์กรภาครัฐที่ส่งเสริมครีเอเตอร์สู่ตลาดโลก
  • มีโครงการสนับสนุนเงินทุน เพื่อกระตุ้นการทำคอนเทนต์คุณภาพสูงในแพลตฟอร์มต่าง ๆ
  • ส่งเสริมการทำคอนเทนต์ร่วมกับสื่อต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
  • มีกฎหมายและการบังคับใช้เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์
  • จัดหลักสูตรมหาวิทยาลัยและเวิร์กช็อป เพื่อฝึกอบรมทักษะการเป็นครีเอเตอร์
  • มีบริการด้านสุขภาพจิต การให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน
  • เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ https://en.taicca.tw/

จากแนวทางนโยบายที่กล่าวไป แสดงให้เห็นว่าครีเอเตอร์เป็นอาชีพที่ต้องมีการลงทุน ยิ่งการแข่งขันสูง ยิ่งต้องใช้อุปกรณ์มาตรฐานสูงในการทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ซึ่งหากใครเป็นฟรีแลนซ์ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายคนเดียวทั้งหมด แถมยังไม่สามารถใช้ประกันสังคมได้ อีกทั้งมักพบว่ารัฐไม่มีการให้ความรู้ในการจัดตั้งบริษัท หรือการจ่ายภาษีที่ถูกต้อง พวกเขาก็ยิ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหนักขึ้น

นโยบายจาก 3 ประเทศนี้ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างโอกาสให้ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ ๆ สามารถเติบโตได้ในวงการ ซึ่งหากภาครัฐไทยนำมาเป็นกรณีศึกษาในการสนับสนุนวงการครีเอเตอร์ ในอนาคตก็อาจช่วยให้เราลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายได้เปราะหนึ่ง

จากทั้งหมดที่เสนอมาก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นการจัดตั้งสมาคมเพื่อครีเอเตอร์ซึ่งให้บริการความช่วยเหลือสำหรับครีเอเตอร์ และรวบรวมเสียงของครีเอเตอร์ไทยสู่การผลักดันเป็นนโยบายต่อไปได้

เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยจุดประกายความหวังให้เหล่าคนทำคอนเทนต์ได้ ซึ่งหากใครอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ครีเอเตอร์มีสมาคม สามารถร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ #Saveครีเอเตอร์Zone กันต่อไป เพราะเพียงแค่หนึ่งเสียงของคุณก็สามารถทำให้ “สมาคมครีเอเตอร์ไทย” ไม่เป็นเพียงแค่ความฝันอีกต่อไป

อ้างอิง:

TK Park, BOI, Taicca

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save