เข้าใจวัฒนธรรมบนโซเชียลมีเดีย พร้อมนำเสนอคอนเทนต์ให้เหมาะสม

การเผยแพร่เรื่องราวหรือคอนเทนต์ต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตในยุคแรกๆ นั้น ส่วนมากจะไม่พ้นการลงเนื้อหาบนเว็บไซต์ ซึ่งผู้ใช้ก็จะต้องเป็นคนเลือกเข้าไปอ่านเอง ว่าอยากได้ความรู้หรือความคิดเห็นเรื่องอะไร จากเว็บไซต์ประเภทไหน

ซึ่งการมาของโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นศูนย์กลางรวบรวมคอนเทนต์ในทุกๆ หัวข้อ ทุกประเภท พร้อมทั้งเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้รูปแบบการผลิตคอนเทนต์ที่ผู้อ่านจะสนใจนั้น แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง และยังแตกต่างกันในแต่ละแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียอีกด้วย

เข้าใจเอกลักษณ์ของแพลตฟอร์มนั้นๆ

โซเชียลมีเดียนั้นไม่ได้มีแค่แพลตฟอร์มเดียว แต่หลายแพลตฟอร์มที่โดดเด่นและมีผู้ใช้งานที่มากมายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นก็นิยมใช้งาน Facebook, Twitter, YouTube, Instagram และน้องใหม่มาแรงอย่าง TikTok ก็สามารถเห็นใครต่อใครหยิบมือถือมาเปิดแอปเหล่านี้ดูกันได้ไม่ยากนัก

ซึ่งทั้ง 4 โซเชียลมีเดียชื่อดังที่กล่าวมานี้ก็มีเอกลักษณ์ต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่แพลตฟอร์มนั้นๆ สามารถลงได้ รวมไปถึงค่านิยมของผู้ใช้งานที่เกิดขึ้นจนเป็น “วัฒนธรรม” อีกด้วย

ดังนั้นจึงสามารถพูดได้ว่า โซเชียลมีเดียในแต่ละแพลตฟอร์มก็เปรียบเสมือนเมืองใหญ่ๆ เมืองหนึ่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันมากมาย และมีค่านิยม การแต่งตัว กิจกรรม สินค้าส่งออก แตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำก่อนเลยก็คือการทำความเข้าใจวัฒนธรรมเหล่านี้ และทำการ “สื่อสาร” กับพวกเขาให้รู้เรื่อง

Facebook โซเชียลมีเดียอันดับหนึ่ง ที่รวมคอนเทนต์ทุกประเภทไว้ด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของคอนเทนต์ต่างๆ จำนวนผู้ใช้งานที่มากและครอบคลุมทุกรูปแบบและช่วงวัย ไปจนถึงการใช้เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถทำเงินได้อย่างจริงจัง ก็ไม่แปลกใจที่หลายๆ คนเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาและหยิบมือถือเข้ามาเปิดแอป Facebook เพื่อเช็คการแจ้งเตือนเป็นอย่างแรก ทำให้เหล่าผู้สร้างคอนเทนต์หันมาโฟกัสที่แพลตฟอร์มใหญ่ตัวนี้ก่อนใคร

สำหรับวัฒนธรรมของผู้ใช้งานใน Facebook แม้จะมีความหลากลาย แต่ก็ยังมีจุดร่วมและรูปแบบที่คนมักจะสนใจร่วมกันอยู่ไม่น้อย

เอาชนะปริมาณ ด้วยคุณภาพ และ first impression

ด้วยความที่ Facebook นั้นเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ดังนั้นปริมาณคอนเทนต์ก็มีจำนวนมากตามไปด้วย ซึ่งถ้าคอนเทนต์เราไม่ดีจริง หรือธรรมดาเกินไป ก็คงจะไม่เป็นที่สนใจของผู้ใช้งาน สิ่งสำคัญก็คือการทำคอนเทนต์ให้มีคุณภาพ

แต่อย่างแรกที่เราจะทำการเริ่มผลิตคอนเทนต์ หลังจากรู้กลุ่มเป้าหมายของเราแล้วก็คือ first impression ที่ทำให้ผู้อ่านเตะตา และหันมาสนใจตัวคอนเทนต์เราก่อน ซึ่งความประทับใจแรกก็คงไม่พ้นรูปสวยๆ ที่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน รู้ว่าจะทำอะไร และอยากรู้ว่าจะทำอะไรต่อ โดยการใช้รูปประกอบนั้นสามารถทำได้ทั้งคอนเทนต์ภาพ บทความ รวมไปถึงภาพประกอบวิดีโออีกด้วย

สร้างสีสันด้วยการมีส่วนร่วมและความตลก

ปกติโซเชียลมีเดียนั้นจะเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ Facebook มีข้อดีตรงที่เป็นโซเชียลมีเดียที่มีความซับซ้อนในการโต้ตอบของทั้งผู้อ่านและคนทำคอนเทนต์  และสามารถทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นคอมเมนต์ ข้อความ การแชร์ รวมไปถึงการสร้างกลุ่ม

ซึ่งคนทำคอนเทนต์ก็สามารถใช้ช่องทางการสื่อสารเหล่านี้ประกอบการสร้างคอนเทนต์ให้มีความน่าสนใจได้ เช่น การเลือกใช้คำถามให้ผู้อ่านอยากมีส่วนร่วม อาจจะเป็นการทิ้งท้ายว่า “มีเพื่อน ๆ คนไหนเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้าง ลองพิมพ์มาในคอมเมนต์ดู” ก็จะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วม อยากบอกต่อ ไปจนถึงทำให้คอนเทนต์ของเราถูกเข้าถึงมากขึ้นอีกด้วย (โดยเฉพาะถ้าเป็นกิจกรรมแจกของ อาจมีคนสนใจมากขึ้นอีก)

นอกจากการใช้การมีส่วนร่วมแล้ว “ความตลก” ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้งาน Facebook ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นมุกขำๆ ตามสไตล์ของเพจนั้นๆ หรือการล้อเลียนกระแสสังคมแบบทันท่วงที ก็จะทำให้คอนเทนต์เราไม่จืด สามารถสร้างความสนใจได้อีกต่อนึง

Twitter ดินแดนแห่งวัยรุ่นและความเร็ว

Twitter เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กประเภท Micro-Blog ที่เราสามารถพิมพ์ข้อความได้แค่ 280 ตัวอักษร และแนบรูปได้แค่ 4 รูป ซึ่งมีจุดเด่นในการเกาะกระแสแบบเรียลไทม์ผ่าน # (Hashtag) ที่ผู้อ่านสามารถติดตามได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ Twitter เป็นโซเชียลมีเดียที่มีจุดเด่นคือมีกระแสของ timeline ที่ไหลรวดเร็วเป็นอย่างมาก

เมืองหลวงของเหล่าวัยรุ่น

จริงๆ แล้ว Twitter ก็เป็นโซเชียลมีเดียที่มีกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่มไปจนถึงหลายช่วงอายุเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะสังเกตจากมุมไหน ก็จะพบว่า Twitter นั้นเต็มไปด้วยวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา เรื่องที่สนใจ ซึ่งเป็นหมดทั้งไทยและต่างประเทศ

เพราะฉะนั้นการสื่อสารด้วย Twitter ต้องนึกไว้เลยว่าเราจะต้องเป็นวัยรุ่น การสื่อสารก็ควรใช้ภาษาที่ไม่แข็งจนเกินไปนัก รวมไปถึงการโยงกับเรื่องราวและกระแสสังคมที่วัยรุ่นชอบก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

มาไว ไปไว

ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหนๆ คุณภาพคอนเทนต์เป็นสิ่งสำคัญ กับ Twitter ก็เช่นกัน แต่ด้วยความเป็น Micro-Blog นั้นส่งผลให้การพูดคุยเรื่องต่างๆ มี “ความเร็ว” อยู่มาก และความเร็วนี้ทำให้กระแสต่างๆ มาไวไปไวมากๆ เรียกได้ว่าพลาดไปครึ่งวันก็อาจจะหลุดได้ (หรือบางเรื่องที่เข้มข้นก็อาจจะนานหน่อย)

เพราะฉะนั้นเราควรที่จะ “เกาะกระแส” เรื่องราวร้อนระอุใน Twitter ให้ได้ทันท่วงทีอยู่เเสมอ โดยให้เราใช้งานอีกหนึ่งจุดสำคัญของ Twitter คือ # หรือแฮชแท็ก ที่เอาไว้ติดตามการพูดถึงกระแสนั้น เพียงแค่กดเข้าไปดูตามแฮชแท็ก เราก็จะพบเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้ใช้งานพูดถึง และนำมาปรับใช้ในการผลิตคอนเทนต์ให้ตรงกับความสนใจของเขาในขณะนั้นได้ด้วย

YouTube ดินแดนแห่งการสร้างสรรค์วิดีโอ

YouTube เป็นโซเชียลมีเดียที่เข้าใจไม่ยาก เพราะมีคอนเทนต์ประเภทเดียวในแพลตฟอร์มนี้นั่นคือวิดีโอ และการพัฒนาของระบบอินเตอร์เน็ตทั่วโลกที่ทำให้ทุกคนสามารถรับชมวิดีโอได้อย่างสะดวกขึ้น และรับชมได้ทุกที่ จึงไม่แปลกใจว่าทำไม YouTube นั้นเป็นอีกแพลตฟอร์มที่บูม และมีคอนเทนต์หลากให้รับชมหลากหลายมากๆ

ชัดเจนและสม่ำเสมอ

การทำคอนเทนต์แบบใดๆ ก็ตามควรที่จะชัดเจน เช่น เราอาจอยากเป็นนักเล่าเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์ ก็เน้นเรื่องราวภาพยนตร์ให้เกิดเป็นความโดดเด่นและเป็นภาพจำของเรา ทำให้ทุกคนจดจำเราในฐานะนักเล่าเรื่องภาพยนตร์ให้ได้ โดยเรื่องสำคัญอีกอย่างก็คือความสม่ำเสมอ เราอาจจะไม่ต้องลงคอนเทนต์ทุกวัน วันละหลายๆ รอบ แต่ควรจะลงให้ผู้ติดตามติดและรอชมคอนเทนต์ของเราได้ในเวลาที่ชัดเจน เช่น ประกาศว่าช่องของเราจะทำการลงคอนเทนต์ใหม่ทุกวันศุกร์ แบบนี้ก็ได้

เล่าให้เป็นเอกลักษณ์

จริงอยู่ที่ปัจจุบันทุกคนสามารถถ่ายวิดีโอผ่านสมาร์ตโฟน และอัปลงอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก แต่การเล่าเรื่อง ตัดต่อ ทำให้เรื่องราวสนุกและไม่น่าเบื่อ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะการจะทำคลิปใครๆ ก็สามารถถ่ายทำได้ แต่การเล่าเรื่องและการตัดต่อนั้นจะใช้ความสามารถเฉพาะตัวที่มากกว่าพอสมควร ซึ่งถ้าเรามีเทคนิคในการล่าเรื่องที่ดี รวมถึงการตัดต่อที่ไม่เหมือนใคร ก็จะทำให้คลิปของเรามีความแตกต่างและดึงดูดผู้ชมได้ไม่ยากเลย

Thumbnail ชัดเจน เกิด first impression ได้ไม่ยาก

วิดีโอก็คือภาพเคลื่อนไหว ซึ่งก็จะต้องเข้าไปกดดูภาพและเสียงก่อน ดังนั้น Thumbnail คือสิ่งสำคัญ โดยอาจไม่ต้องเป็นภาพที่ออกแบบมาอย่างสวยงามซับซ้อนนัก แต่จะต้องชัดเจนมากๆ ว่าคลิปนี้เกี่ยวกับอะไร พูดถึงอะไร เป็นการสื่อสารทางเดียวที่จะทำให้ผู้ชมเกิดความสนใจและกดเข้าไปดูคลิปของเราในที่สุด

Instagram รูปสวยเป็นต่อ

Instagram เป็นโซเชียลมีเดียที่เน้นคอนเทนต์ประเภทรูปและวิดีโอเป็นหลัก เน้นการเลื่อนดูภาพ จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานค่อนข้างง่าย และรวมไปถึงการเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ซื้อ-ขาย สินค้าในตัวคล้ายกับ Facebook  อีกด้วย

ภาพสวย วิดีโอแจ่ม

ในเมื่อ Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นการลงรูปเป็นหลัก (มีวิดีโอผสม) การเลือกรูปที่สวยไว้ก่อนย่อมเป็นจุดดึงดูดให้คนมาสนใจ เพราะการเลื่อน feed Instagram นั้นก็จะเป็นการไล่ดูรูปก่อนจะอ่านข้อความ อันไหนน่าสนใจก็ค่อยอ่านอันนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราโพสต์รูปแบบ Carousel หรือลงทีละหลายรูป ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดรูปสวย ๆ มารวมกันไว้ เพราะในบางครั้ง Instagram ก็ไม่ได้แสดงผลรูปแรกขึ้นมาให้ชมก่อนนั่นเอง

แฮชแท็กก็สำคัญ

Instagram นั้นสามารถใช้แฮชแท็กได้เหมือนกับ Twitter แถมมีพื้นที่ในการใส่เยอะกว่า Twitter เสียอีก จึงมีประโยชน์มากในการใช้เพื่อแยกหมวดหมู่ในการติดตามเรื่องราว ซึ่งอาจไม่ได้มาไวไปไวแบบ Twitter เแต่ไม่ได้หมายความว่าการใช้แฮชแท็กเยอะจะเป็นเรื่องดี เราควรคัดเฉพาะแฮชแท็กที่สำคัญและตรงกับคอนเทนต์ที่เราอยากนำเสนอมาใส่เพื่อความกระชับ เพราะอย่าลืมว่าหัวใจสำคัญของ Instagram ยังคงเป็นภาพอยู่นั่นเอง

TikTok วิดีโอสั้นเน้นความสนุก 

TikTok เป็นโซเชียลมีเดียที่มีความเฉพาะตัวสูงที่สุด นั่นคือมีแต่คลิปสั้นความยาวประมาณ 1 นาทีเท่านั้น แต่คลิปพวกนี้ก็จะมีความแตกต่างในการเล่าเรื่องไม่เหมือนคลิปยาวๆ มีความสด เร็ว มาไวไปไวประมาณหนึ่ง โดยตัวแพลตฟอร์มเองยังมีเครื่องมีที่ทำให้เราผลิตคลิปได้จบในสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว และทำการแชร์ให้ผู้ชมสามารถชมได้ทันที

สนุกไว้เป็นอันดับแรก

TikTok อาจจะมีวิดีโอได้หลายรูปแบบเหมือนกับ YouTube แต่จากความสนใจของผู้ใช้งานปกติแล้วก็มักจะชื่นชอบวิดีโอที่มีความสนุก ดูเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก และดูต่อไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นวิดีโอสาระ แต่ก็ควรมีความสนุก ไม่เครียด ประกอบไว้อยู่ด้วย

โดยความแตกต่างของ TikTok กับ YouTube นั้นคือจะมีความสั้นของวิดีโอที่สั้นกว่ามาก เราจึงควรทำคลิปให้มีความน่าสนใจและน่าดึงดูดแม้ตั้งแต่ไม่กี่วินาทีแรกๆ เพื่อให้คนดูติดตามชมคลิปของเรา ไม่เลื่อนผ่านไปดูคลิปอื่นนั่นเอง

สนับสนุนโดย :

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

 

 

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save