Case Study

Avatar

zealotzephyr May 8, 2020

Animal Crossing จากวิดีโอเกม สู่ Social Media Platform

การวางจำหน่ายวิดีโอเกมแล้วสามารถทำยอดขายได้หลักล้านในยุคนี้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่ แต่เกมที่สามารถทำยอดขายได้ 13.41 ล้านชุดในเวลาเพียงเดือนครึ่ง อันนี้ก็บอกเลยว่ามีให้เห็นกันไม่บ่อย และเกมที่เรากำลังพูดถึงก็คือ Animal Crossing: New Horizons

ซึ่งทีมงาน RAiNMaker ก็ไม่ได้จะมาเล่นแล้วรีวิวให้ฟังว่าเกมมันสนุกขนาดไหน จนขายดีขนาดนี้ (ซึ่งมันก็สนุกจริงๆ นะ!) แต่หนึ่งในเหตุผลหลักที่เกมนี้โด่งดังก็คือการที่เกมถูกใช้เป็น Social Media Platform เป็นเวทีในการแสดงผลงานและคอนเทนต์ในอีกรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่ผู้เล่นทั่วไป ยันแบรนด์สินค้าอย่างเป็นทางการเลยทีเดียว

ปลูก สร้าง ออกแบบ และใช้ชีวิต

Animal Crossing: New Horizons (หรือย่อว่า ACNH) นั้นเป็นเกมของ Nintendo Switch ที่ให้เราใช้ชีวิตบนเกาะน่ารักๆ แห่งหนึ่ง ทำงาน ทำภารกิจ หาเงินมาตกแต่งบ้านและเกาะ ปลูกต้นไม้ คุยเล่นกับเพื่อนๆ ฯลฯ ก็แลดูจะเป็นเกมชิลๆ ที่ไม่น่าพิเศษอะไร แต่จุดเด่นจริงๆ ของเกมนี้ก็คือ “ความอิสระ” ที่เราสามารถมีกิจกรรมทำกันมากมาย ซึ่งทีเด็ดก็คือ “การออกแบบ” ลวดลายแพทเทิร์นต่างๆ ที่สามารถทำอย่างไรก็ได้ ตั้งแต่วาดเอง ไปจนถึงสแกนรูปถ่ายจริงๆ มาใช้ และนั่นคือการที่เกมนี้ได้กลายเป็น Social Media Platform ไปเลยแบบไม่ได้ตั้งใจ

เมื่อแคทวอล์คมาอยู่ในวิดีโอเกม

ในช่วงที่เราต้องกักตัวจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ได้ส่งผลต่อธุรกิจในระดับโลกมากมาย ซึ่งมีหลายบริษัทหลายหน่วยงานที่ไม่สามารถทำงานแบบปกติได้ โดยเฉพาะงานอีเวนต์ที่มีผู้คนจำนวนมากอยู่ในสถานที่แออัด และวงการแฟชั่นก็เป็นหนึ่งในสายธุรกิจที่ดูจะซบเซาลงไปพอสมควรจากเหตุการณ์นี้

แต่ก็ไม่ใช่ทุกแบรนด์จะหาทางออกเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะแบรนด์แฟชั่นสุดหรูอย่าง Marc Jacobs และ Maison Valentino ได้นำลวดลายเสื้อผ้าจริงๆ ของแบรนด์ตัวเอง มาเปิดตัวใน ACNH ให้ได้ชื่นชมกัน เป็นการขยายฐานแฟนให้กว้างกว่าเดิม ซึ่ง Marc Jacobs เองได้มีการสร้างโค้ดให้เราดาวน์โหลดชุดในเกมมาสวมใส่ได้ฟรีอีกด้วย

แน่นอนว่าแบรนด์แฟชั่นที่ใช้เกม ACNH ในการโชว์ชุดของตัวเองก็มีอีกหลายแบรนด์นอกเหนือจาก 2 แบรนด์นี้ด้วย (และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ)

เที่ยวเกาะโดยไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้าน

กิจกรรมหนึ่งที่หลายคนในช่วงนี้โหยหาก็คงหนีไม่พ้นการท่องเที่ยว ซึ่งแม้ว่าอาจมีการผ่อนคลาย lockdown ลงบ้าง แต่ด้วยเรื่องของสถานที่ ผู้คน ไปจนถึงการเดินทางเข้าประเทศบางประเทศ ก็อาจจะยังไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติที่เราจะสามารถเดินทางไปได้ แต่ถ้าแค่อยากชื่นชมให้พอหายคิดถึง ก็มีทางออกของเรื่องนี้เหมือนกัน

Sentosa Development Corporation ได้เปิดตัวโปรเจ็ค Sentosa Crossing หรือการสร้างเกาะ Sentosa หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของสิงคโปร์ขึ้นใหม่ใน ACNH เพื่อโปรโมท และ (ทยอย) เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเดินเล่นในเกาะเวอร์ชั่นดิจิทัลแห่งนี้ โดยมีแลนด์มาร์คที่สำคัญๆ หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นบาร์ริมหาด เส้นทางเทรลตามธรรมชาติ Skyline Luge และ Shangri-La หรือโรงแรม Capella ไปจนถึงจุดเล่นโยคะริมหาดก็ยังมี

เป็นเจ้าของงานศิลปะสุดหรูได้โดยไม่ต้องประมูล

J. Paul Getty Museum พิพิธภัณฑ์ศิลปะชื่อดังในลอสแอนเจลิส, แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำคอนเทนต์ในเกม ACNH ได้น่าสนใจเช่นกัน โดยที่นี่ได้มีการสร้าง Animal Crossing Art Generator เว็บไซต์ที่รวมรูปภาพศิลปะในพิพิธภัณฑ์ที่ถูกแปลงเป็น QR code เพื่อสแกนต่อลงในเกม เอาไว้ใช้ตั้งโชว์ในแกลเลอรีของเราเอง หรือจะสกรีนเป็นลายเสื้อใส่เก๋ๆ ก็ยังได้

นอกจากนี้ยังมี hashtag ที่ให้ผู้ใช้งานได้ใช้ในการอวดงานศิลปะในเกมกันคือ #ACArtGenerator หรือใครอยากจะ mention ไปอวดตรงๆ กับทางพิพิธภัณฑ์ ก็ทำได้ที่ Twitter @gettymuseum

หาความรู้ คู่พิพิธภัณฑ์

จริงๆ แล้วใน ACNH ก็มีพิพิธภัณฑ์อยู่ด้วย ซึ่งพิพิธภัณฑ์ในเกมนี้ก็จะเป็นที่รวบรวมแมลง ฟอสซิล สัตว์น้ำ และผลงานศิลปะที่เราสามารถค้นหาและนำไปมอบให้ Blathers นกฮูกภัณฑารักษ์ เพื่อไว้จัดแสดงสิ่งต่างๆ ตามหมวดหมู่ ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นสัตว์หรือรูปภาพที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

Monterey Bay Aquarium พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในมอนเทอเรย์, แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้จัดทำรายการออนไลน์โดยใช้เกม ACNH ในการเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ชมจริงๆ ไปในตัว โดยมีรูปแบบรายการคล้ายๆ กับเป็นคลิป let’s play เกม (หรือที่เรียกกันว่า “แคสต์เกม” ในบ้านเรา) เล่นเกมไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งให้ความรู้ประกอบ เช่น ทีมงานจะพาเข้าไปเดินในพิพิธภัณฑ์ (ในเกม) พร้อมทั้งไล่อธิบายว่าสัตว์น้ำที่เราเห็นอยู่มีรายละเอียดเรื่องราวเป็นอย่างไร

หรือแม้แต่การประท้วงแบบ Social Distancing!

โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวทางสังคมชื่อดังของฮ่องกง ใช้ ACNH ในการประท้วงรัฐบาลจีนในช่วงกักตัว โดยใช้การสแกนรูปถ่ายลงไปในเกมเพื่อใช้ทำป้ายประท้วง พร้อมกับพิมพ์ “Free Hong Kong” ผ่านตัวละครในเกม ซึ่งก็มีผู้ร่วมประท้วงกับโจชัวมากมายจนกลายเป็นข่าวใหญ่โตไม่แพ้การลงถนนจริงๆ

และการประท้วงภายในเกมครั้งนี้ก็ได้ส่งผลที่ใหญ่โตไม่แพ้การประท้วงในโลกจริงเช่นเดียวกัน เพราะทาง Taobao ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายเกมของเครื่อง Nintendo Switch ในจีน ได้ออกมาประกาศเลิกขายเกมนี้ (ในประเทศจีน) และทำให้เกมเมอร์ชาวจีนที่อยากเล่นออกมาบ่นอย่างหัวร้อนไปตามๆ กัน

Animal Crossing เกมที่ “ข้ามผ่าน” ด้วยความ “สร้างสรรค์”

หลายคนคงเข้าใจแล้วว่า Animal Crossing: New Horizons ไม่ได้เป็นแค่เกมที่โด่งดังเพียงเพราะว่าสนุก และเล่นได้เพลิน แต่ความพิเศษในความ “อิสระ” ของเกม ก็ได้ส่งผลให้เกมเป็นอีกเวทีหนึ่งในการสร้างสรรค์คอนเทนต์รูปแบบใหม่ๆ จากเหล่า content creator ในทุกๆ ระดับและทุกๆ วงการทั่วโลก

และสิ่งสำคัญที่สุดที่เราได้เรียนรู้จากปรากฏการณ์ความดังของเกมนี้ก็คือ “ต้องเป็น” และ “ต้องเร็ว” เพราะแม้ว่าเกมจะดูเป็นสิ่งที่เหล่า online marketer ไม่ได้สัมผัสกันบ่อยๆ เหมือน Social Media แต่เราก็เห็นแล้วว่าแม้แต่หน่วยงานหรือแบรนด์ดังๆ ก็สามารถใช้เกมนี้ทำคอนเทนต์ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ “ใครๆ ก็ทำได้”

แต่ก่อนอื่นต้องมีเครื่อง Nintendo Switch ก่อนนะ!

ที่มา/เรียบเรียง: Brand Inside, MARKETINGOOPS, Campaign Asia, Getty Museum, spin9, Monterey Bay Aquarium และ DIMSUM DAILY

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save