JournalismTips

Avatar

doyoumind August 25, 2021

เมื่อประเภท Fake News มีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด ชวนเข้าใจความผิดปกติของข้อมูลข่าวสารทุกประเภทก่อนเสพสื่อ

‘Fake News’ หรือข่าวปลอม ที่ช่วงหลังมานี้ถูกนำมากล่าวถึงให้ได้ยินกันบ่อยขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลที่ได้ออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อลงโทษผู้ที่ปล่อย Fake News ออกมาทำให้ประชาชนหวาดกลัว ท่ามกลางความสงสัยของหลายคนว่า ตกลงนิยามของคำว่า Fake News มีความหมายไปในทางเดียวกันหรือไม่?

ความหมายของ Fake News คือ ข่าวลวงหรือข่าวปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยไม่มีข้อมูลจริง (Fact) ข้อมูลผิด หรือไม่มีแหล่งข้อมูลที่สามารถยืนยันข้อมูลนั้นได้ บางครั้งข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเจตนาเพื่อชวนเชื่อและนำผู้รับสารไปสู่ความเข้าใจผิดต่าง ๆ

ซึ่งผลที่ตามมาคือ อาจมีคนบางกลุ่มตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อในข้อมูลข่าวสารผิด ๆ และแชร์ข้อมูลส่งต่อไปในวงกว้างมากขึ้น ยิ่งข้อมูลถูกเผยแพร่ไปในวงกว้ามากขึ้นเท่าไหร่ ความยากในการแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้อง และเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ผู้รับสารกลุ่มนั้นทราบก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น บางครั้งข่าวปลอมจึงอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีอีกฝ่ายนั่นเอง

ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารมีมากมาย จนบางครั้งก็ยากที่จะคิด วิเคราะห์ และแยกแยะให้ออกว่าอันไหนจริงอันไหนปลออม สำหรับ Fake News เองก็มีหลากหลายรูปแบบเช่นกัน วันนี้เราเลยจะพามารู้จัก 7 ประเภทของ ‘ความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร (Information Disorder)’ เพื่อเตือนสติก่อนเสพข้อมูลข่าวสารกัน

ความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร (Information Disorder)

ความผิดปกติของข้อมูลข่าวสารจะสามารถแบ่งตามฐานข้อมูลได้ 2 ส่วน คือ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (Falseness) และข้อมูลที่มีเจตนามุ่งร้าย (Intent to harm)

และถูกแบ่งออกลงไปอีก 3 กลุ่ม คือ ข้อมูลที่ผิด (Misinformation), ข้อมูลที่บิดเบือน (Disinformation) และข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Malinformation) ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็จะมีประเภทของข้อมูลแยกย่อยลงไปอีก ซึ่งเราจะอธิบายในลำดับถัดไป

ข้อมูลที่ผิด (Misinformation)

ข้อมูลที่ผิดพลาดหรือข้อมูลเท็จ ไม่ว่าจะเป็นแคปชันหรือรูปภาพที่อาจไม่ได้เกิดจากเจตนาต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด หรือตั้งใจบิดเบือนข้อมูล แต่เป็นกรณีที่ผู้รับสารเผยแพร่ไปด้วยความเข้าใจและมีความเชื่อว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้อง จึงเกิดความผิดพลาด

  • การเสียดสีหรือล้อเลียน (Satire or Parody)

ถึงแม้ว่าการเสียดสีหรือการล้อเลียนจะถือเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดหรือข้อมูลที่บิดเบือนได้

  • ข้อมูลที่มีการเชื่อมโยงผิด (False Connection)

เมื่อหัวเรื่อง ภาพ วิดีโอ หรือแคปชันที่ประกอบเนื้อหาไม่เป็นไปในทางเดียวกันกับเนื้อหา เรียกง่าย ๆ คือไม่ม่ีความเกี่ยวข้องกัน เช่น เนื้อหาประเภท Clickbait ที่เมื่อกดเข้าไปอ่านแล้ว ทำให้ผู้รับสารรู้สึกว่าเหมือนถูกหลอก เพราะเนื้อหาไม่ตรงปกนั่นเอง

  • เนื้อหาที่ชี้นำให้เกิดการเข้าใจผิด (Misleading Content)

เนื้อหาประเภทนี้เป็นการใช้การตัดบางส่วนของข้อมูลมานำเสนอ ทั้งจงใจและไม่จงใจจนอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในข้อมูลนั้น ๆ เช่น ตัดบางคำพูด หรือโควตมา ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิด ทั้งที่หากดูฉบับเต็มอาจมีความหมายอีกอย่าง

ข้อมูลที่บิดเบือน (Disinformation)

คือข้อมูลที่ผิด แต่ผู้รับสารเผยแพร่ไปด้วยความจงใจทั้งที่รู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกต้อง หรือก็มีเจตนาที่จะบิดเบือนข้อมูล และชี้นำผู้คนเกิดความเข้าใจผิด

  • เนื้อหาที่แต่งขึ้นมาใหม่ (Fabricated Content)

ข้อมูลที่ใหม่มาก ๆ จนหาแหล่งข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมไม่ได้ อาจเป็นข้อมูลที่แต่งขึ้นมาใหม่อาจนำไปสู่ข้อมูลผิด ๆ รวมถึงเกิดการบิดเบือนข้อมูลได้ แถมยังตรวจสอบได้ยากอีกด้วย จึงต้องใช้การวิเคราะห์ แยกแยะ และตรวจสอบให้ดีก่อน

  • เนื้อหาที่มีการดัดแปลง (Manipulated Content)

ภาพหรือข้อมูลจริงถูกนำมาดัดแปลงจากต้นฉบับ มีเจตนาเพื่อบิดเบือนข้อมูล หลอกลวง หรือชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น การตัดต่อไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง หรือวิดีโอ การแปะโควตที่เจ้าตัวไม่ได้พูด เป็นต้น

  • ข้อมูลที่ผิดบริบท (False Context)

คอนเทนต์ที่ถูกนำมาหมุนเวียนซ้ำจากบริบทเดิมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่น นำภาพจากอีกเหตุการณ์หน่ึงมาใช้กับอีกเหตุการณ์หนึ่ง วนไปมาจนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าภาพนี้มาจากเหตุการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น

  • ข้อมูลที่มีเนื้อหาแอบอ้าง (Imposter Content)

การแอบอ้างหรือสวมรอยเป็นสื่อนั้น ๆ แล้วเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สื่อหรือองค์กรนั้น ๆ ไม่ได้เป็นคนทำ หากผู้รับสารไม่ได้ตรวจสอบให้ดีอาจเกิดความเข้าใจผิด จนเกิดการแชร์ต่อเนื่องจากคิดว่าเป็นข้อมูลจากสื่อหรือองค์กรที่ไว้ใจ และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์สื่อหรือองค์กรได้

ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Malinformation)

อาจเป็นข้อมูลที่มาจากข้อเท็จจริง แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้อื่น เช่น ข้อมูลที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว ข้อมูลที่ขัดต่อมาตรฐานและจรรยาบรรณสื่อ เช่น ภาพเปลือย รวมถึงการคุกคาม (Harassment) หรือข้อความหรือคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (Hate speech) เป็นต้น

สังเกตได้ว่าความผิดปกติของข้อมูลข่าวสารแต่ละประเภทก็มีความคาบเกี่ยวกันว่าจะเป็นข้อมูลที่ผิด (Misinformation), ข้อมูลที่บิดเบือน (Disinformation) หรือข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Malinformation) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจตนา ข้อมูล และบริบทต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามหากพบเจอข้อมูลข่าวสารใดที่เข้าข่ายหนึ่งในประเภทเหล่านี้ ควรทำการวิเคราะห์และตรวจสอบให้ดีก่อนเผยแพร่ เพื่อยับยั้งการกระจายข้อมูลข่าวสารผิด ๆ ไปสู่วงกว้าง

ที่มา: Thinking about ‘Information disorder’

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save