Case StudyTips

Avatar

zealotzephyr July 8, 2020

ล้วงลึกชีวิต Content Creator สายเกม

ในยุคที่ Content Creator สามารถหาเลี้ยงชีพได้ และแตกย่อยออกมาเป็นหลายต่อหลายสาย ชนิดที่เรียกได้ว่าถนัดอันไหนก็ไปทำอันไหน ซึ่งแต่ละสายเองถ้าไม่นับเรื่องความชอบและความถนัด ทั้งงานที่ทำและรายได้ก็เป็นอีกข้อที่สร้างความแตกต่างกันอยู่มาก

ซึ่งก็มีอีกสายหนึ่งของ Content Creator ที่หลายคนอยากจะเป็น นั่นคือ “สายเกม” ที่ใช้คำว่าเล่นเกมจนเป็นงานก็ไม่ผิดนัก และสำหรับหลายคนที่มีความสนใจ วันนี้เราจะมา “เล่าเรื่องงาน” ของครีเอเตอร์สายเกมให้ฟังกัน

เหมือนกับทุกสาย คือต้องชอบก่อน

ถ้า “ไม่ชอบเล่นเกม” การถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเกมก็คงทำได้ไม่คล่องแคล่วเท่าคนที่เล่นเกมมานาน เพราะฉะนั้นการเป็น Content Creator สายเกมก็ไม่แตกต่างจากสายอื่น นั่นคือต้องชอบก่อน ชอบจนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องราวต่างๆ ของเกมประมาณหนึ่ง

ซึ่งในความชอบนั้นอาจไม่ต้องถึงกับมีประสบการณ์นานหลายปี แต่แค่มีประกายความ “อยากเล่า” ถูกจุดขึ้นมาก็เป็นอันเพียงพอ

คน-เขียน-คอนเทนต์-เกม

พอบอกว่าเป็น Content Creator ก็สามารถใช้คำนี้ได้กับทุกสาย จะเป็น YouTuber เล่าเรื่องเกม ทำคลิปสนุกๆ หรือ Shoutcaster (พากย์เกม) ก็เป็นได้

ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนเอง ในการทำงานทั้งหมดกว่า 90% จะเป็นการเขียนคอนเทนต์เกมในลักษณะภาพกราฟิก บทความ รีวิว มีม ฯลฯ ซึ่งเป็นรูปแบบคอนเทนต์แนวภาพนิ่งเสียส่วนใหญ่ แต่อย่างที่เกริ่นไว้ แนวทางการทำคอนเทนต์นั้นมีหลายรูปแบบอย่างมาก ตามความถนัด แผนการทำงาน และความยืดหยุ่นของตัวแพลตฟอร์ม

ใช่แล้ว บทความนี้คือบทความบอกเล่าประสบการณ์กึ่งสัมภาษณ์

ซึ่งผู้เขียนได้ทำการสัมภาษณ์ตัวเองนั่นเอง

ที่ชอบที่ชอบ และที่ไม่ได้ชอบ

ปกติแล้วเราไม่ได้เล่นเกมกันทุกเกม และเราอาจมีโอกาสเลือกเกมได้จากความชอบ (หรืองบประมาณในขณะนั้น) ซึ่งสุดท้ายเราก็คงจะเล่นเกมที่เลือกมาแล้วว่าน่าจะถูกใจ และเล่นมันด้วยความเพลิดเพลินกัน แต่เมื่อมาเป็น “นักเล่าเรื่อง” ที่เกี่ยวกับวิดีโอเกมแล้ว การที่เราจะต้องเล่นเกมเป็นจำนวนมากก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในเกมจำนวนมากนั้นอาจมีเกมที่เราไม่ได้เพลิดเพลินอยู่ไม่น้อยด้วยเช่นกัน

และกับเกมที่ไม่ได้ชอบ หรือเกมที่ปกติมักจะไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกๆ ของเรา แต่ด้วยหน้าที่การงานแล้ว เรื่องนี้ทำให้เราต้องฝึกมองเกมทุกเกมผ่านเลนส์ที่เรียกว่า “เกมออกใหม่น่าสนใจ” เหมือนกัน (ส่วนปลายทางจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องนึง)

“เล่น” เพื่อสนุก กับ “เล่น” เพื่อทำงาน

ต่อจากข้อที่แล้วอาจทำให้เราต้องเปลี่ยน “การเล่นเกม​” เป็น “การทำงาน” มากขึ้น จากที่เคยเปิดเกมมาเล่นด้วยความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว เราจำเป็นต้องเพิ่มเติมการเล่นเกมของเราในทุกๆ รายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นลักษณะต่างๆ ของเกม เนื้อหา กราฟิก รูปในเกมที่จะต้องแคปมามากมายกว่าปกติ ประสบการณ์ในการเล่น (และกับ “เกมมิ่งเกียร์” หรืออุปกรณ์ต่างๆ ก็เช่นกัน) สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ปกติเราไม่เคยต้องทำ เพียงเพราะ “เราไม่เคยบอกให้คนอื่นได้รับรู้อย่างละเอียด” แต่เวลาเราเล่นเรารู้ตัวเองดีโดยที่ไม่ต้องทำ เพราะประสบการณ์การเล่นมันผ่านสายตา หู และสัมผัสจากนิ้วที่ควบคุมอุปกรณ์อยู่

แต่อยากให้จำไว้หนึ่งอย่างว่า ไม่ว่าเราจะเล่นด้วยความเพลิดเพลิน หรือเก็บรายละเอียดไว้เพื่อการทำงาน เรายังสามารถเล่นเกมด้วย ​”ความสนุก” ได้อยู่ เพราะ

ความสนุกจะเป็นชั้นกรองอย่างดี

ที่ทำให้เราสามารถถ่ายทอดความรู้สึกจริงๆ ออกมาให้ผู้ชมได้รับรู้

จะชอบไม่ชอบก็ได้ แต่ต้องบอกเล่าได้ด้วย

แม้ว่าการส่วนหนึ่งของเล่นเกมจะกลายเป็นการทำงานของเรา แต่ด้วยความเป็นมนุษย์แล้ว อารมณ์ความ “ชอบ และไม่ชอบ” จะยังคงวนเวียนอยู่ในความรู้สึกเราตลอดเวลาอยู่ดี ซึ่งการจะบอกเล่าความชอบไม่ชอบนั้น “ไม่ผิด” (การฝืนใส่ความรู้สึกที่ไม่จริงลงไปในคอนเทนต์บ่อยๆ แลดูจะเป็นเรื่องไม่โอเคมากกว่า)

แต่การเผยความรู้สึกชอบไม่ชอบนั้นอาจทำหยาบๆ เหมือนเวลาคุยเล่าเล่นกับเพื่อนไม่ได้ซะทีเดียว เนื่องจากเราต้องสื่อสารกับผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ดั้งนั้นการใช้เหตุผลเพื่ออธิบายอย่างละเอียดเป็นสิ่งที่จำเป็น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ

อยากแสดงความรู้สึกอย่างไร

ก็ต้องอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจได้ด้วย

ลืมอะไรก็ได้ แต่ห้ามลืมความสุขที่ได้จากวิดีโอเกม

สำหรับ Content Creator สายนี้ ในวันหนึ่งเราอาจจะถึงขั้นที่ “ล้าจากการเล่นเกม” จนอาจทำให้เบื่อ หรือเล่นเกมบางเกมไม่สนุก ไม่ได้อยากเล่นอีกต่อไป ซึ่งเป็นกันได้ทุกคน ทุกวงการ โดยข้อนี้อาจจะต้องอาศัยการเยียวยาในแบบฉบับของแต่ละคนเอง เพื่อให้ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่ากลับคืนมาได้อีกครั้ง

และสิ่งที่เราจะทำขาดหายไปไม่ได้เลยเมื่อตัดสินใจเข้ามาในวงการการทำคอนเทนต์แล้วคือ “ความสุขที่ได้จากสิ่งนั้น” ซึ่งในที่นี้ก็คือวิดีโอเกม เพราะเกม ถูกสร้างมาเพื่อความสุขกับคนเล่น และการที่เราต้องเป็นคนบอกเล่าเรื่องราวนั้นให้กับผู้อ่าน เราก็ควรจะรับความสุขจากมันมาให้ตัวเองได้เต็มที่ก่อน

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save