Case StudyJournalism

Avatar

Nutn0n October 10, 2019

หัดแยกข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็น เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ดี

ถ้าเราจะเขียน พูด หรือบอกเล่าเรื่องราวอะไรซักเรื่องลงบนอินเทอร์เน็ต เราจะต้องทำอย่างไร ต้องหาข้อมูล ต้องเช็คความถูกต้องของข้อมูล ต้องดูว่าคนดูจะชอบไหม ต้องดูว่ากระแสตอบรับในเรื่องนั้นจะเป็นอย่างไรบ้างหากลงไป ต้องดูตัวอย่างจากคนอื่น อะไรเต็มไปหมด ในกระบวนการก่อนที่จะได้มาซึ่งคอนเทนต์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าคอนเทนต์นั้นจะมีที่มาอย่างไร สุดท้ายแล้วเราสามารถแบ่งมันออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ ข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็น

แล้วอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือข้อคิดเห็น ข้อเท็จจริงคือข่าวหรือเปล่า หรือ Press Release รางงานจากสำนักข่าว ข้อคิดเห็นคือคอลัมน์ รีวิว บทวิเคราะห์ใช่ไหม ใครที่เคยเรียนมาอาจจะคิดแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้ว ณ ทุกวันนี้ ทุกอย่างซับซ้อนเกินกว่าจะแบ่งแยก “ข้อเท็จจริง” และ “ข้อคิดเห็น” ด้วยแค่การดูว่ารูปแบบของคอนเทนต์นั้นคืออะไร ดังนั้นวันนี้เราจะมาลองแยกด้วย “ตัวเนื้อหา” ของมันจริง ๆ

ลองเริ่มต้นง่าย ๆ จากทวีตของเรา สมมติเราทวีตว่า “วันนี้หนาวจัง” แน่นอนว่าเป็นข้อคิดเห็นเต็ม ๆ เพราะเป็นสิ่งที่เรารู้สึก เราเรียกสิ่งนี้ว่า อัตวิสัย (subjectivity) คือสิ่งที่เรารู้สึกมาจากตัวตนของเรา แต่ถ้าเราทวีตว่า “วันนี้อุณหภูมิต่ำกว่าเมื่อวาน” อันนี้กลายเป็นข้อเท็จจริงแล้ว เพราะเป็นการเทียบสิ่งที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้ร่วมกันก็คือ อุณหภูมิ ไม่ได้มาจากความรู้สึก เราเรียกข้อมูลแบบนี้ว่าเป็น ภววิสัย (objectivity) เพราะ ภว คือภาวะที่มันเป็นจริง ๆ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า ทวีตของเราสามารถเป็นได้ทั้งข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นได้ ขึ้นอยู่กับ รูปแบบของเนื้อหา ว่าพูดสิ่งที่เป็น subjectivity หรือ objectivity

ถามว่าแล้วเรื่องนี้สำคัญอย่างไร ทำไมต้องแยกระหว่าง ข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นด้วย มันสำคัญตรงที่ว่า เราจะได้เลิกมองตัว “รูปแบบ” ของคอนเทนต์ แล้วหันมามองที่เนื้อหาของมันจริง ๆ

  • ขอเท็จจริง คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ เช่น ตัวเลข, สถิติ, การกระทำที่เกิดขึ้น
  • ข้อคิดเห็น คือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยมีที่มาจากมุมมอง ความรู้สึก หรือการนำประสบการณ์ส่วนตัวมาจับกับการกระทำของคนอื่น

ถ้าเรามองแบบนี้ได้ จะเกิดวิธีคิดที่ว่า ต่อให้บุคคลที่พูดจะเป็นคนดัง เป็นข่าว ถ้า พูดข้อเท็จจริงผิด ก็แปลว่าผิด แต่ถ้าพูดข้อคิดเห็นไม่ตรงกับใจเราก็ปล่อยเขาไป หรือถ้าอยากโต้แย้งก็เขาไปโต้แย้ง แต่ว่าถ้าเขาโต้แย้งมาด้วยข้อเท็จจริงที่ผิด ก็สามารถจี้ไปได้ว่า ก็นี่ไง ข้อมูลที่เขาเอามา Support มันผิด

ทีนี้มองย้อนกลับมาในฐานะคนทำคอนเทนต์ ถ้าสมมติเราทำคอนเทนต์บอกว่า iPhone 11 ถ่ายภาพกลางคืนกาก แล้วเราอธิบายจากประสบการณ์ที่เราพบเจอว่าทำไมเราคิดว่ามันกาก โดยที่เราไม่ได้โกหก แบบนี้เราไม่ผิด เพราะมันมาจากความรู้สึกของเรา แต่ถ้าเราทำคอนเทนต์บอกว่า กล้อง iPhone 11 ไม่มีโหมดถ่ายภาพกลางคืน อันนี้เราผิด เพราะมันมี แล้วเราไปลงว่ามันไม่มี

สุดท้ายแล้วสำหรับผู้เขียนการทำคอนเทนต์ที่ดีนั้น ไม่ใช่ว่าห้ามใส่ข้อข้อคิดเห็นหรือความรู้สึกลงไป  สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างคอนเทนต์ที่ช่วยให้ผู้อ่าน ผู้ชม สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือข้อคิดเห็น และข้อคิดเห็นนั้นต้องมาจากข้อเท็จจริงที่ถูกต้องด้วย

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

 

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save