รวม 5 เครื่องมือไว้ใช้ตรวจสอบข่าวปลอม ไว้เช็คก่อนแชร์หรือเขียนข่าว

ย้ำกันเป็นรอบที่ล้านว่าปัญหาใหญ่ทั่วโลกทุกวันนี้คือปัญหาข่าวปลอมหรือ Fake News หรือการแชร์เนื้อหาข่าวที่ไม่มีความจริง มีความจริงเพียงครึ่งเดียว หรือสร้างขึ้นมาเพื่อหวังผลบางอย่าง ก่อนหน้านี้เราเคยได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ Fake News ไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็น รู้จักกับ Fake News ทั้ง 7 รูปแบบ ที่เราเจอกันทุกวันบน Facebook, Twitter  และ ทำไมโซเชียลมีเดียถึงเผยด้านลบของเราได้ง่ายกว่าด้านดี และวิธีทำคอนเทนต์ให้โลกดีขึ้น หรือ รู้จักกับงานเขียนแบบ Evidence-based เพื่อความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างความตระหนักถึงปัญหา Fake News แล้วยิ่งในไทยใกล้ช่วงการเลือกตั้งแล้วด้วย การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะคงไม่ต้องบอกว่าปัญหาที่ตามมาภายหลังนั้นร้ายแรงแค่ไหน

เราในฐานะคนทำคอนเทนต์ เวลาเราได้ข่าวอะไรซักอย่างมา สิ่งแรกที่เราควรจะทำก็คือ ต้องเช็คก่อนว่าข้อมูลที่เราได้มา รูปภาพ หรือข้อความต่าง ๆ คำพูด หรือภาพประกอบในข่าว บางทีก็ไม่ได้เป็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่เป็นการเอาหลาย ๆ อย่างมายำรวมกัน อย่างเช่นกรณี ถ้ำหลวง, พายุปาบึก หรือข่าวการเลือกตั้งหาเสียงต่าง ๆ หลายคนดันเผลอเขียนข่าวสิ่งที่ไม่จริงไป ซึ่งผลของมันไม่ใช่เรื่องดีเลย

ทีมงาน RAiNMAKER ได้คุยกับคุณพีรพล อนุตรโสตถิ์  หรือพี่โย ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำ Fact Check จากรายการ #ชัวร์ก่อนแชร์  และบทความส่วนหนึ่งจาก Reuters และได้รวบรวมเครื่องมือสำหรับการ Fact Check ขั้นต้นมาแนะนำกัน

1.Google และ Google Image Search

เป็นเครื่องมือที่หลาย ๆ คนรู้จักอยู่แล้ว วิธีการก็คือให้เอาเรื่องราวนั้น หรือประเด็นนั้นไป Search Google ก่อน หรือนำรูปที่อาจจะเป็นรูปประกอบหรือรูปที่บอกว่าเกี่ยวข้องกับข่าวหรือประเด็นนั้นไปใช้ Google Image Search อัพโหลดขึ้นไป แล้วก็ดูว่าผลที่ออกมาคือภาพอะไร อยู่บนอินเทอร์เน็ตครั้งแรกเมื่อไหร่ มาจากไหน

เทคนิค 

  • ปกติ Google จะเน้นการค้นหาที่ใกล้เคียง แต่ถ้าเราอยากให้เจอคำนั้นเป๊ะ ๆ เลยให้ใส่ ” ” ครอบเข้าไปแล้ว Search เช่น “นาฬิกาบิ๊กป้อม”
  • Google Image Search อาจจะลองใช้ Search Engine อื่น ๆ ของรัสเซีย เช่น Yandex ก็อาจจะทำให้เจอผลการค้นหาที่ถูกแชร์อยู่บน Social ทางฝั่งของรัสเซียที่เราไม่เล่นหรือยากที่จะเข้าถึง
  • การทำชื่อไฟล์ไป Search หรือดูข้อมูล EXIF ของรูป ก็ทำได้เช่นกัน แต่ต้องอย่าลืมว่าถ้าไฟล์รูปมีการส่งผ่านหลายต่อ ชื่อไฟล์อาจจะเปลี่ยน

2.Google News

ทุกวันนี้ Google News เป็นบริการที่รวบรวมข่าวทั้งหมดไว้ สำหรับค้นหาข่าวโดยเฉพาะ วิธีการใช้ก็คือให้เราเอาชื่อข่าว หรือคำสำคัญต่าง ๆ ไป Search ใน Google News มันก็จะโชว์เลยว่า มีสำนักข่าวไหนลงบ้าง

เทคนิค

  • ใช้เหมือนกับ Google Search แต่การค้นหาจะเน้นไปที่ข่าวจากสำนักข่าวมากกว่า
  • พยายามสังเกตวันที่และเวลาของข่าวต่าง ๆ บางที Fake News ก็มาในรูปแบบของข่าวเก่าเอามาเล่าใหม่
  • ดูสำนักข่าว หรือเว็บไซต์ที่เขียนถึง อาจจะต้องดูจากสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ว่าเขียนเหมือนกันไหม (แต่สำนักข่าวใหญ่ไม่ได้แปลว่าจะเขียน Fake News ไม่ได้นะ)
  • วิธีคิดก็คือ Google News จะเอาข่าวหลาย ๆ อย่างมาเรียงกันให้เรากดเข้าไปดูแล้วจับผิดว่าเขียนเหมือนกันไหม มีอะไรผิดแปลกหรือเปล่า

3.YouTube DataViewer

YouTube Data Viewer เป็นเครื่องมือเจ๋ง ๆ จาก Amnesty ที่ให้เราใส่ URL ของวิดีโอบน YouTube แล้วระบบจะเลือกแคปภาพสำคัญ ๆ ในวิดีโอมาให้เราเอาไป Search ใน Google อีกทีโดยที่เราไม่ต้องแคปจอเอง

อันนี้เป็นคำตอบว่าแล้วถ้าเป็นวิดีโอจะต้อง Search ยังไง เพราะเรายังไม่สามารถเอาวิดีโออัพโหลดขึ้นไป Search ได้

เทคนิค

  • เราจะเจอภาพต่าง ๆ ที่เป็น Preview แล้วก็สามารถเช็คต่อได้ว่า คำบรรยายหรือเว็บไซต์ที่เราเจอรูปภาพ Preview นั้นมันใกล้เคียงกับข่าวที่เขียนหรือเปล่า ถ้าเจอหลาย ๆ ที่แล้วกลายเป็นว่าเขียนไม่เหมือนกันก็รู้ได้เลยว่าเรากำลังเจอ Fake News แล้ว ซึ่งส่วนมากปัญหาที่เจอจะเป็นการเอาวิดีโอเก่ามาเล่าใหม่ บางทีก็ไม่ได้เกี่ยวกันเลย เช่นกรณีของคลิปพายุปาบึก

4.เครื่องมือบน Facebook และรู้ว่า Social Media เต็มไปด้วยข่าวปลอม

ทุกวันนี้ YouTube ออกหลาย ๆ เครื่องมือมาช่วยให้เราสามารถตรวจสอบได้โดยที่ไม่ต้องกดเข้าไปเว็บ ที่บางเว็บเป็น clickbait ที่มี Ads Farm หรือเข้าไปก็เจอแต่โฆษณาเต็มไปหมด เอาจริง ๆ สิ่งแรกที่เราควรจะดูก่อนคือชื่อของสำนักข่าว เช่น BBC Thai หรือ The MATTER, The Standard อะไรทั้งหลาย แต่ถ้าเจอเว็บข่าวแปลก ๆ ก็ไม่ต้องไปอ่าน ไม่ต้องไปอยากรู้ แต่ถ้าสงสัยจริง ๆ Facebook ก็มีเครื่องมือไว้ให้

เทคนิค 

  • ตอนนี้ Facebook จะมีปุ่มรูปตัว i ให้เรากด เมื่อกดแล้วเราจะเห็นว่าเว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์อะไร register กับ Facebook ไว้ไหม
  • ข้อมูลจะแสดงให้เราเห็นแม้กระทั่งว่าลิ้งค์นี้ถูกแชร์ที่ไหนบ้าง หรือในต่างประเทศก็จะเห็นเลยว่าเขียนโดยนักข่าวจากไหน ชื่ออะไร ซึ่งคาดว่าฟีเจอร์นี้ก็จะถูกนำมาใช้กับผู้ใช้งาน Facebook ในไทยด้วย

5.Mindset ที่ดี

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะสู้กับ Fake News ได้นั้นก็คือ Mindset ที่ดี การไม่เชื่อว่าสิ่งที่เห็นอยู่เป็นความจริง และตั้งคำถามเสมอ ไม่แชร์อะไรโดยที่ไม่ตั้งคำถาม หรือคิดก่อนว่าสิ่งนี้เป็นได้จริงเหรอ หรือมีโอกาสเกิดมากน้อยแค่ไหน ผู้เขียนเคยเอาเรื่องนี้มาเล่าแล้วใน ย้อนดูเครื่องมือที่ Facebook ออกแบบมาสู้ข่าวปลอม และแนวคิดการรู้ทันสื่อโซเชียล

พื้นที่โซเชียลเป็นพื้นที่แห่งการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่พื้นที่ของข่าวความเป็นจริง ซึ่งเต็มไปด้วยความ Bias, การทำ agenda setting (การกำหนดวาระให้สังคมหันมาสนใจเรื่องนี้) หรือ hidden agenda (การมีวาระบางอย่างซ่อนอยู่) ที่ไม่ได้จบเพียงแต่มนุษย์ต่อมนุษย์ แต่ยังถูกย้อมแต่งแต้มด้วยอัลกอริทึมที่ชาญฉลาดเพื่อให้สื่อโซเชียลคือโลกในกะลาอันสวยหรูที่เราเลือกที่จะรับรู้สิ่งที่เราอยากจะรู้หรือรับฟังได้เท่านั้น

สุดท้ายเราก็หวังว่าคนทำคอนเทนต์ทุกคน จะให้ความสำคัญในเรื่องการทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และหันมาต่อสู้กับ Fake News จริง ๆ ทุกวันนี้ Quality Journalism หรือ Quality Content คือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากเว็บไซต์ข่าวปลอม ข่าวลวง หรือ clickbait ที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้อ่าน อะไรก็ตามที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับคนดู สิ่งนั้นย่อมไม่ใช่คอนเทนต์ และอย่าเรียกตัวเองว่าเป็น Content Creator

 

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save