รู้จักกับงานเขียนแบบ Evidence-based เพื่อความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ไปเจอ Infographic ของ American Council of Science and Health ที่ทำแผนภาพลำดับเว็บข่าววิทยาศาสตร์ที่ดีและแย่ที่สุด ซึ่งพอพูดแบบนี้แล้ว เราก็จะเกิดคำถามว่า นิยามของคำว่าดีหรือแย่ มันอยู่ที่ตรงไหน เขียนแล้วคนชอบ ? เขียนเข้าใจง่าย ? ซึ่งทาง ACSH ก็ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า compelling หรือ การดึงดูด จับใจ กับอีกอย่างนึงที่ผู้เขียนนึกไม่ถึงตอนแรก สิ่งนั้นคือ Evidence-based Reporting คือการให้เหตุผล การมีหลักฐาน สนับสนุน ซึ่งมันคือพื้นฐานของงานเขียนด้านวิทยาศาสตร์เลย

ซึ่งวิธีการคิดแบบนี้ก็ทำให้การเขียนข่าววิทยาศาสตร์ของ Daily Mail เว็บไซต์ที่ดูเหมือนจะดูดี กลายเป็นข่าวขยะเลยทันที (ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกว่าข่าวของ Daily Mail มันขยะมาก โดยเฉพาะในหมวดวิทยาศาสตร์)

ซึ่ง Infographic ตัวนี้ก็ดี แล้วก็ค่อนข้างตรงกับที่ผู้เขียนนำมาใช้อ้างอิงในบทความต่าง ๆ บนเว็บไซต์ที่ผู้เขียนเป็นบรรณาธิการอยู่ ทั้งหมดดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่มันหามันอยู่ตรงที่ ทำไมการเขียนแบบ Evidence-based ถึงได้ถูกเอามายึดติดกับวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ? แล้วข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งคอนเทนต์ How-to หรือรีวิวต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้อง  Evidence-based เหรอ ? 

การทำคอนเทนต์แบบ  Evidence-based ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นคอนเทนต์ที่มาจากหลักฐาน แน่นอนว่ามันจะช่วยให้งานของเรามีคุณค่าและน่าเชื่อถือ รวมถึงจริงใจกับผู้อ่านหรือผู้ชมมากขึ้น แต่ก่อนอื่น เราจะมาเข้าใจก่อนว่า มันคืออะไรแล้วการคิดงานแบบ Evidence-based เขาว่าไว้ว่าอย่างไรบ้าง

อะไรคือ Evidence-based

คำว่า Evidence-based มาจากคำเต็มว่า evidence-based practice หรือ หลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งแนวคิดนี้ถูกนำมาเริ่มต้นใช้กับทางการแพทย์เป็นอย่างแรก เนื่องจากการตัดสินใจจะรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีไหนนั้น เราจะมาเดามั่ว ๆ ไม่ได้ มีหลาย ๆ ปัจจัยที่เราต้องยกขึ้นมาคิด เช่น รักษาแบบนี้กับผู้ป่วยคนก่อนหายไหม ถ้าหายหายเพราะวิธีการรักษาหรือหายเพราะว่าต่อให้รักษาด้วยวิธีอื่นก็มีโอกาสหาย แบบนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีคิดที่วิทยาศาสตร์มาก ๆ ไปสอดคล้องกับ ตรรกศาสตร์หรือ Logic หรือเป็นวิธีการที่นักวิจัยใช้ในการเขียนงาน ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่จริง ๆ แล้ว Evidence-based เป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ในตัวทุกคน รวมถึงวิชาที่เราเรียน ๆ กันก็มีการนำ Evidence-based มาใช้ด้วย

GED (ระบอบมาตรฐานการสอบเทียบมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา) ได้ให้นิยามของ Evidence-based กับงานเขียนซึ่งเป็นข้อสอบในปี 2014 ไว้ว่า evidence-based writing is writing in which students use evidence to support their points เป็นงานเขียนที่ผู้เขียนมีหลักฐานมาสนับสนุนประเด็นที่ยกมา

เห็นแบบนี้เราอาจจะคุ้น ๆ กัน เพราะถ้าเราเรียน Paragraph Writing เราจะถูกสอนการเขียนที่ว่า จะต้องมี point และ supporting details ยกตัวอย่างเช่น “นักการเมืองโกงชาติเพราะมีนาฬิกาหรู” อันนี้เป็นการให้เหตุผลแปลก ๆ เพราะแสดงว่า มีนาฬิกาหรู = โกง ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะมาจากรายได้สุจริตก็ได้ การให้เหตุผลที่ดีก็เช่น “นักการเมืองโกงเพราะมีนาฬิกาหรูแต่ไม่ยอมยื่นรายการทรัพย์สินให้ตรวจสอบ” แบบนี้เราจะบอกว่า การไม่ยื่นรายทรัพย์สินให้ตรวจสอบ = การโกง ซึ่งก็ดูมีเหตุผล เนื่องจากการยื่นทรัพย์สินเป็นสิ่งที่นักการเมืองควรทำ การไม่ทำไม่ว่าจะโกงจริงหรือไม่โกงก็นับว่าโกง อย่างน้อยไม่โกงเงินก็ก็คือโกงระบบ

ดังนั้น Topic ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม การมี supporting detail ก็จะช่วยให้เราสามารถสร้างประเด็นที่ดูน่าเชื่อถือขึ้นมาได้ เป็นการ Save ตัวเองไปในตัวด้วยว่าเราไม่ได้เขียนอะไรจากความรู้สึก

แล้วจะทำมาใช้กับการทำคอนเทนต์ได้อย่างไร

ทุกวันนี้คอนเทนต์หลาย ๆ ตัวถูกสร้างขึ้นมาบนความรู้สึก ซึ่งถ้าย้อนไปดูนิยามของ ACSH เว็บข่าวที่ห่วยคือเว็บที่ใช้ Ideologically หรือใช้ความคิดตัวเองมาผูกสร้างเรื่อง ไม่ว่าจะเกิดจากอะไรก็ตาม ความเชื่อ อารมณ์ร่วม หรือแหล่งข่าวที่มีอำนาจชื่อเสียง ก็ทำให้การรายงานข่าวหรือทำคอนเทนต์กลายเป็น Ideologically driven ไปได้

ตัวอย่างของ Ideologically ก็เช่น

  • กรมอุตุนิยมวิทยาออกรายงานมาฉบับนึง บอกว่าอุณหภูมิจะลดลง 5 องศา แต่สำนักข่าวเอามารายงานว่า หนาวสะท้านแน่! ซึ่งคำว่าหนาว เป็นอัตวิสัย ซึ่งจริง ๆ แม้แต่คนเขียนข่าวเองก็ยังไม่ได้สัมผัสเลย เพราะมันเป็นเรื่องของอนาคต แต่กลับเอามาบอกแล้วว่า หนาวแน่ ๆ ผลที่ตามมาก็คือคนไปด่ากรมอุตุฯ (ซึ่งคนที่ด่าก็อ่านแค่หัวข้อ จริง ๆ ด้านในอาจจะบอกก็ได้ว่าลดแค่ 5 องศา แต่ก็ไม่ช่วยอะไร เพราะเอา Ideologically ใส่ไปแล้ว)
  • การใช้ผลมาก่อนเหตุ ซึ่งเราจะพบได้ตามกระทู้ Pantip เช่น “เพราะอยากดังก็เลยโชว์นม” เรายังไม่รู้เลยว่าเขาอยากดังจริงหรือเปล่า รู้แค่ว่าเขาโชว์นม แต่เราก็สรุปไปแล้ว สิ่งนี้จะเห็นได้บ่อยตามพาดหัวข่าว อยากดัง! อยากสวย! กลัวไม่ดัง! 

เคล็ดลับเขียนงานให้ดูน่าเชื่อถือ

จริง ๆ แล้วการคิดให้ได้แบบ evidence-based จะต้องฝึกกันพอสมควร แต่การเริ่มต้นเราอาจจะไม่ต้องคิดแบบนั้นได้ทั้งหมด เราไม่ใช่นักปรัชญา แต่สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ คอยเฝ้าระวัง สอดส่อง และรู้เท่าทันการคิดแบบไม่มีเหตุผลสนับสนุนของตัวเองและคนอื่น รวมถึงในสื่อต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เราโดนหลอก หรือพลาดเขียนงานที่ไม่มีเหตุผลลงไป ตัวอย่างสิ่งที่ควรระวังเช่น

  • ระวังสิ่งที่เรียกว่า Counterexample เช่น เด็กไทยโง่คะแนนสอบน้อย เป็นการสรุปว่าเด็กไทยทุกคนโง่และทำข้อสอบไม่ได้ทุกคน ซึ่งถ้ามีเด็กที่ฉลาดขึ้นมาหรือได้คะแนนสูงแม้แต่คนเดียว การให้เหตุผลนั้นจะผิดทันที วิธีการก็คือ ใช้คำแนว ๆ ว่า ค่าเฉลี่ยผลสอบของเด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐาน (คำว่าค่าเฉลี่ยคือการเอาของทุกคนมารวมกัน แปลว่ามีทั้งคะแนนน้อยและเยอะ)
  • เลิกใช้ไปเลย คำว่า เขาพูดกันว่า, เขาว่ากันว่า, คนส่วนใหญ่เชื่อว่า, แหล่งข่าวใหญ่บอกมาว่า ถ้าเราไม่สามารถบอกได้ว่า เขาที่ว่าคือใคร คนส่วนใหญ่ไปสำรวจมาจากไหน หรือ แหล่งข่าวคือจากไหน
  • พยายามใช้คำว่า เพราะ ______ , เนื่องจาก _____ , คุณ _____ พูดไว้ใน ____ ว่า _____ , ทำให้ _____
  • ถ้าใช้คำว่า งานวิจัยเผย กรุณาระบุชื่องานวิจัยด้วย อย่าบอกว่าก็เว็บนี้บอกมาว่างานวิจัยเผย

การใช้เขียนแบบใช้เหตุผล ไม่ได้แปลว่าห้ามใช้ความรู้สึก เราไม่ได้เขียนงานวิจัย เราใส่ความรู้สึกเข้าไปได้ แต่เราต้องตอบได้ด้วยว่าทำไมเราถึงมีความรู้สึกนั้น เช่น เราสามารถบอกได้ว่า “เรารู้สึกว่า iPad รุ่นใหม่โคตรกากที่ไม่มีรูหูฟัง” แบบนี้ไม่ผิด แต่ต้องบอกด้วยว่า ผู้เขียนรู้สึกว่ามันกาก เพราะ Apple บอกว่า iPad Pro เน้นใช้งานระดับสูง ซึ่งนั่นรวมถึงอุปกรณ์ที่ต้องต่อหูฟัง เช่นเครื่องดนตรี สิ่งนี้ทำให้ iPad Pro ยังแทน MacBook ไม่ได้ ต้องพกหัวแปลงอยู่ดี การนำไปใช้จึงต่ำกว่าที่ Apple ให้ความหวังไว้

เราจะเห็นว่าการใช้เหตุผลกับคอนเทนต์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับข่าวด้านวิทยาศาสตร์เสมอไป เพราะจริง ๆ แล้ววิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่ Story อยู่ดี แต่เป็นวิธีการคิดอย่างเป็นโครงสร้าง เหมือน GAT เชื่อมโยงที่เด็ก ๆ สอบกัน (สอนให้เข้าใจว่า ประเด็นนี้ทำให้เกิดอะไร ไปยับยั้งอะไร ใช้เหตุผลร่วมกับอะไร) ทุกวันนี้ เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย Poor Journalism เต็มไปหมด ในฐานะผู้อ่านหรือเสพคอนเทนต์ ก็ควรรู้เท่าทัน หรือในฐานะคนทำคอนเทนต์เองก็ควรจะหันมาสร้างคอนเทนต์ที่น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ เพื่อให้คอนเทนต์ของเรามีค่าจริง ๆ

ผู้เขียนเคยเขียนอธิบายการทำคอนเทนต์ในแนว ๆ นี้ไว้เยอะมาก สามารถตามอ่านได้ที่

 

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save