Case StudyJournalismNews

Avatar

doyoumind February 28, 2022

6 จรรยาบรรณที่สื่อควรมี จาก Case Study ‘แตงโม-นิดา’

คำว่า ‘จรรยาบรรณสื่อ’ มักถูกหยิบขึ้นมาพูดแทบทุกครั้งที่มีสื่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ครั้งนี้ก็เช่นกันกับกรณีการรายงานข่าวของดาราสาว ‘แตงโม-นิดา’ ที่ผู้คนต่างเห็นจุดบกพร่องในการทำงานของบางสื่อ จนหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดียกันไม่น้อย

ในฐานะที่ RAiNMaker เองก็เป็นสื่อออนไลน์ เราจึงอยากสะท้อนข้อผิดพลาดที่หลายสื่ออาจทำอยู่ รวมถึงเป็นการเน้นย้ำถึงจรรยาบรรณที่สื่อควรจะมี เพื่อให้วงการสื่อเต็มไปด้วยคุณภาพ และเป็นที่ไว้ใจของผู้รับสารได้

จากกรณีดังกล่าว บวกกับหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราได้รวบรวมจรรยาบรรณที่สื่อควรมีในการนำเสนอข่าวออกมาได้เป็น 6 ข้อหลักด้วยกัน ดังนี้

1. การนำเสนอข่าวที่เหมาะสม

  • ไม่ควรถ่ายทอดสดเหตุการณ์ที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว

ในปัจจุบัน โลกของข่าวสารดำเนินไปอย่างรวดเร็วเพราะโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเมื่อมีฟีเจอร์ ‘ไลฟ์’ เข้ามาช่วยในการถ่ายทอดข่าวสารแบบเรียลไทม์ แต่หารู้ไม่ว่าความจริงแล้วทุกเหตุการณ์ไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดออกมาทั้งหมดก็ได้ ในฐานะสื่อควรจะคำนึงถึงจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว คัดกรองว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรที่จะนำเสนอออกไป เนื่องจากบางสิ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงบางเนื้อหาที่เผยแพร่ออกไปอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจคนดู อย่างเช่น ภาพศพผู้เสียชีวิต เป็นต้น

  • ไม่ควรนำเสนอข่าวด้วยคำพูดพาดพิงหรือหมิ่นประมาท

สื่อควรทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงด้วยความซื่อตรง และควรเลือกใช้คำพูด กิริยาท่าทางให้เหมาะสมในการรายงานข่าวให้เหมาะสมมากที่สุด อย่างกรณีที่มีการใส่ข้อคิดเห็นของตนเองลงไปในข่าว โดยที่ข้อมูลนั้นอาจยังไม่ได้รับการตรวจสอบว่าเป็นความจริง หรือแม้แต่การพูดหยอกล้อในเชิงพาดพิงที่อาจทำให้ผู้ที่ถูกอ้างถึงรู้สึกไม่ดีได้ ก็นับเป็นสิ่งที่สื่อไม่ควรทำทั้งนั้น

  • หลีกเลี่ยงคำถามที่กระทบจิตใจ

หลายสื่อยังคงยึดติดอยู่กับคำถามเดิม ๆ เหมือนกับว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจะต้องถามคำถามแบบนี้ เช่น กรณีของข่าวที่มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น บางสื่อกลับมุ่งถามถึงความรู้สึกของคนที่สูญเสียว่า “รู้สึกอย่างไรกับการจากไปครั้งนี้ ?” ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครยินดีกับการสูญเสีย แต่คำถามเหล่านี้กลับออกมาทุกครั้งเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ให้ต้องเป็นการตอกย้ำความเสียใจให้กับทุกฝ่าย

จะดีกว่าหรือไม่ หากสื่อเลือกสัมภาษณ์เฉพาะสิ่งจำเป็น เท่าที่ควรจะถาม โดยคำนึงถึงจิตใจของผู้ถูกสัมภาษณ์มากขึ้น หากลองคิดในมุมกลับกันถ้าเราเป็นคนสูญเสียแล้วเจอคำถามเหล่านั้น แน่นอนว่าคำถามพรรค์นั้นคงหมดไปเป็นแน่

2. หยุดเผยแพร่ Fake News หรือ Clickbait

หากข้อมูลที่ได้รับมายังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริง ก็ยังไม่ควรที่จะนำเสนอออกไป เพราะอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และเผยแพร่ไปในวงกว้างมากขึ้น จนสุดท้ายยากที่จะแก้ไข

ในส่วนของการพาดหัวข่าวเกินจริง หรือที่รู้จักกันชื่อของ Clickbait เพื่อหวังทำยอด ทั้งที่ในเนื้อข่าวข้างในไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบทความ ก็นับเป็นข่าวปลอมเช่นกัน

นอกจากสื่อควรเผยแพร่แต่ข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว ยังควรสนับสนุนไม่ให้เกิดการเผยแพร่หรือแชร์ต่อข้อมูลที่ผิดอีกด้วย

3. หลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้

นอกจากต้องคำนึงถึงเรื่องข้อเท็จจริงในการนำเสนอข่าวแล้ว ข่าวสารประเภทที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ สิ่งเหนือธรรมชาติ ที่อาจไม่สามารถพิสูจน์ หรือมีหลักฐานมาสนับสนุนได้อย่างแน่ชัดเอง ก็ไม่ควรถูกมานำเสนอเพื่อชักจูงผู้คนให้มีความคิดโอนเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งเช่นกัน

แทนที่จะนำเสนอข่าวประเภทนั้น การนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์และข้อเท็จจริงที่มีเหตุผล หลักฐานมาสนับสนุน ตรงไปตามความเป็นจริง จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้อ่านมากกว่า หรืออาจเป็นบทเรียนอะไรบางอย่างให้กับผู้คนได้

4. ไม่นำเสนอเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

แน่นอนว่าเมื่อเกิดประเด็นหนึ่งขึ้นมา ประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นบริบทรายล้อมก็มักจะถูกยกมานำเสนอด้วยเช่นกัน แต่บางกรณีกลับเป็นการเชื่อมโยง หรือยกประเด็นมาไม่เหมาะสมไปสักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นการขุดประวัติที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือการทำคอนเทนต์สร้างกระแสที่บางทีก็ดูฝืนเหลือเกิน จนผู้อ่านเกิดคำถามว่า “ทำทำไม ?” เช่น การรวมรายชื่อแฟนเก่าของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ทั้งที่ต้นเรื่องไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นชู้สาวเลยสักนิด

5. เป็นสื่อกลางในการสร้าง Social Awareness ต่อปัญหาที่เกี่ยวข้อง

นอกจากการนำเสนอข่าวแล้ว สื่อควรทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง หรือสื่อกลางในการสะท้อนบทเรียน และปัญหาที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในอนาคต

การตั้งคำถามกับปัญหาต่าง ๆ หรือจุดบอดที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการนำเสนอข่าวนอกประเด็น แต่เป็นการเพิ่ม Social Awareness ให้สังคมมองเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกี่ยวข้อง

อย่างกรณีของแตงโม ที่เห็นได้ชัดคงจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตคน ที่หลายคนคงเกิดข้อสงสัยว่าทำไมประเทศเราถึงไม่มีความพร้อมถึงขนาดนั้น หากสื่อสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ในการสื่อสารออกไปให้คนตระหนักมากขึ้นได้ ปัญหาก็อาจจะถูกคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นในเร็ววัน

6. การจัดการเรื่องพื้นที่สื่ออย่างเหมาะสม

ข่าวที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้พื้นที่ข่าวมากกว่าข่าวอื่น ๆ แต่ในทางกลับกัน การทุ่มพื้นที่สื่อให้ข่าวใดข่าวหนึ่งมากจนเกินไป จนต้องไปลดความสำคัญของข่าวอื่น ๆ ที่แท้จริงแล้วอาจมีความสำคัญไม่แพ้กันลง ก็อาจส่งผลเสียตามมาได้เช่นกัน

หนึ่งคือ สื่อจะกลายเป็นสื่อที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพมากพอ เพราะบกพร่องในการนำเสนอข่าวให้ครบถ้วน สอง ผู้รับสารก็ไม่สามารถรับสารได้มากพอเท่าที่ควรจะได้รับ เช่นกัน

เราคงเห็นกันมาแล้วอย่างกรณีของลุงพล ในเรื่องของการให้พื้นที่สื่อมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสม จนสุดท้ายทำให้สื่อเองไม่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นควรเลือกให้คุณค่ากับทุกข่าว แน่นอนว่าคงจะมีบางข่าวที่ต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษในแต่ละช่วงเวลา แต่ใช่ว่าจะต้องนำเสนอข่าวเดียวที่กำลังเป็นประเด็น ณ ขณะนั้นเสมอไป

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save