Case StudyClubhouseSocial

sarun.roj

sarun.roj November 18, 2021

ย้อนดูการเติบโตของ Clubhouse สุดท้ายทำไมถึงไม่แมส

วันนี้เป็นเวลากว่า 9 เดือนแล้ว นับตั้งแต่ผู้เขียนได้รับคำเชิญจากเพื่อนให้ลองเล่นแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียน้องใหม่ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเติมเต็มสิ่งที่ Facebook, Instagram หรือ Twitter ไม่มีได้

เรากำลังพูดถึง Clubhouse โซเชียลมีเดียแอปฯ รูปแบบใหม่ที่ผู้ใช้สนทนาและแชร์เรื่องราวด้วยเสียงและที่สำคัญผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้นถึงจะสามารถเล่นได้ กลายเป็นปรากฎการณ์ไปทั่วโลกจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ส่งผลให้มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลา 1 ปี

แต่ก่อนที่เราจะมาพูดถึงสาเหตุที่ผู้ใช้ Clubhouse ออกจากแพลตฟอร์มหรือไม่กลับเข้ามาในแอปฯ เรามาย้อนดูการเติบโตของแพลตฟอร์มกันก่อนครับ

จุดประสงค์ของ Clubhouse คือการสร้างชุมชนแบบคลับ ให้ผู้ใช้เลือกเข้าคลับตามหัวข้อที่สนใจ โดยการพูดคุยทั้งหมดจะไม่ถูกบันทึกไว้ ทำให้สิ่งที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในห้องสนทนาก็จะมีความ Exclusive มากกว่าโซเชียลมีเดียอื่น 

การเข้าถึงคนมีชื่อเสียงได้ง่ายแบบไม่เคยมีมาก่อน – เป็นการเข้าถึงที่โซเชียลมีเดียอื่นๆ ไม่สามารถทำได้มาก่อน โดยระบบคลับถูกตั้งค่าให้ผู้ดูแลห้อง (Moderator) สามารถเรียกผู้ฟังขึ้นมาเป็นผู้พูดเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือสอบถามได้โดยตรง ผ่านการแสดงสัญลักษณ์ยกมือ ทำให้เกิดบทสนทนากับกลุ่มคนที่เข้าถึงได้ยากแบบเรียลไทม์

โด่งดังได้ถูกที่และถูกเวลา – แพลตฟอร์มเปิดตัวในช่วงวิกฤตโรคระบาด ซึ่งผู้คนเริ่มรู้สึกห่างไกลกัน แม้ว่าจะมีแอปฯ ที่ได้รับความนิยมอย่าง Zoom หรือ Google Meet แต่ไม่มีแอปฯ ใดที่สามารถสร้างความเป็นชุมชนให้ผู้คนได้มาสร้างปฏิสัมพันธ์ในหลากหลายวงการเกิดเป็นปรากฎการณ์ได้เหมือนกับ Clubhouse

รองรับความหลากหลาย – คอนเทนต์ในแพลตฟอร์มมีทั้งรูปแบบรายการประจำ และประเด็นในสังคมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระแสคริปโตเคอเรนซี่ การเรียกร้องทางการเมือง หรือความสนใจที่รองลงมาก็มีคลับให้ผู้ใช้ได้เลือกเข้ามากมาย สิ่งเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกระแสดึงผู้ใช้เข้ามาในแพลตฟอร์ม

ขาลงของแอปฯ น้องใหม่ทำไมถึงไม่แมส

– ในปีแรกของ Clubhouse นั้นยังเป็นโหมดเบต้าหรือทดลองใช้งานและทำงานบนระบบปฎิบัติการ iOS เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้ Android ซึ่งมีจำนวนมากกว่าไม่สามารถเข้ามาใช้งานได้ (ถึงแม้ว่าภายหลังจะได้ใช้ แต่ตลาดก็วายไปแล้ว) ประกอบกับผู้ใช้ 1 คนสามารถเชิญผู้ใช้ใหม่ได้เพียง 2 คนในช่วงแรกจึงมีข้อจำกัด

– การกำกับดูแลที่หายไป แม้ว่าผู้จะมีผู้ดูแลในห้อง แต่หากผู้ไม่หวังดีสร้างห้องขึ้นมาเพื่อปั่นกระแสสังคมเสียเอง การรายงาน/แจ้งเตือนไปยังแพลตฟอร์มก็ไม่ทันท่วงทีที่จะระงับหัวข้อที่ไม่พึงไม่ประสงค์ได้ เช่น กระแสบูลลี่คนอีสาน

– คนดังหรือผู้มีอิทธิพลกลับไปให้ความสนใจกับโซเชียลมีเดียดั้งเดิมอย่าง Facebook และ Twitter มากกว่า เนื่องจากประเด็นทางสังคมสามารถสื่อสารได้รวดเร็วกว่าในช่องทางของตัวเองไม่จำเป็นต้องสร้างห้องเพื่อพูดคุยกัน

– Clubhouse สูญเสียจุดแข็ง ในช่วงแรกต้องยอมรับว่าเป็นแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่ไม่เหมือนใครและเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี แต่ความสามารถในการตอบโจทย์เหล่านั้นถูกแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ลอกเลียนแบบไปผู้ใช้ก็จะย้ายไปสู่ Twitter Spaces หรือ Live Audio Rooms ของ Facebook

โดยสรุปแล้ว Clubhouse ก็เป็นเหมือนโซเชียลมีเดียอื่นที่ต้องพึ่งพารายได้จากค่าบริการและการโฆษณา แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถมีช่องทางรายได้ที่มากพอ เนื่องจากเนื้อหาบนแพลตฟอร์มไม่ได้รับความสนใจเท่าช่วงแรก ประกอบกับฟีเจอร์ใหม่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สามารถแทนที่

ในวันที่ทุกแอปฯ ในมือถือต่างแย่งชิงเวลาจากผู้ใช้งาน หาก Clubhouse ต้องการยืนให้ได้ในระยะยาวก็ต้องหารูปแบบรายได้ที่ดีสมเหตุสมผล มีความสม่ำเสมอในการแก้ไขปัญหาบนแพลตฟอร์ม และที่สำคัญต้องมีกลยุทธ์การเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ยึดติดกับจุดแข็งเพียงไม่กี่เรื่องที่ถูกลอกเลียนแบบไปเรียบร้อยแล้ว

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save