สรุปประเด็นจาก iCreator Clubhouse เมื่อวันอังคารที่ 25 มีนาคม 2021 กับ คุณเก่ง-สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO และผู้ก่อตั้ง Creative Talk และกรรมการบริหาร บริษัท rgb72 จำกัด กับการ ‘เผยเทคนิคการจัด Clubhouse ในแบบ Creative Talk’ ต้องบอกเลยว่าแทบทุกคนที่เข้าคลับเฮาส์บ่อยๆ ต้องเคยเห็นคุณเก่งแน่นอน นอกจากจะจัดห้องบนคลับเฮาส์บ่อยมากจนน่าจะรู้แนวทาง และทริกในการจัดห้องเป็นอย่างดี คุณเก่งยังเป็นหนึ่งในผู้ใช้คนไทยบนคลับเฮาส์ที่มียอดผู้ติดตามสูงติดท็อปอีกด้วย
วันนี้ RAiNMaker เลยสรุปคำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับการจัดคลับเฮาส์ในแบบของคุณเก่ง มาฝากให้ทุกคนนำไปใช้ได้จริงแน่นอน บอกไว้ก่อนว่าสาระเน้นๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเลยค่ะ
จัดคลับเฮาส์มาทั้งหมดประมาณกี่รอบ?
- มีรายการที่จัดยืนพื้นทุกตอน 9 โมงเช้า ชื่อรายการ ‘Morning Call’ ส่วนตอนกลางคืนทีม Creative Talk จะจัดห้องเกือบทุกคืน สลับกันจัดกันในทีม อาทิตย์นึงประมาณ 10 ห้อง
ความยากของการจัดคลับเฮาส์?
- มีทั้งส่วนที่ยากและง่าย ส่วนที่ยาก คือ ถ้าเป็นคนขึ้นสเตจไปบรรยายบ่อยๆ จะรู้ว่าการจัดงาน on ground จะสามารถสบตาคนดู เห็นรีแอ็กชันของคนดู ทำให้ดึงคอนเทนต์เพื่อให้คนตื่นตัวได้ แต่คลับเฮาส์จะเป็นเหมือนวิทยุ คือ เราจะไม่รู้ว่าผู้ฟังเขาฟังอยู่มั้ย อีกอย่างคือเราไม่สามารถแอ็กติง เล่นกับพื้นที่ได้ เพราะมันอยู่ที่เสียงทั้งหมด อยู่ที่การพูดเป็นหลัก ถ้าพูดแล้วคนฟังไม่เข้าใจ เขาก็จะตามไม่ทัน ยิ่งถ้าพูดถึงสถิติหรือตัวเลขเยอะๆ โดยที่ไม่มีภาพขึ้นจอให้ดูเหมือนในงาน คนจะนึกภาพไม่ออก ตามไม่ทันไปเลย
- ความง่าย คือ จัดเมื่อไหร่ก็ได้ สปีกเกอร์จะแต่งตัวยังไงก็ได้ สามารถมีห้องแชตแบบเรียลไทม์เพื่อไว้คุยหลังไมค์กับ Moderator หรือสปีกเกอร์คนอื่นๆ ได้ ว่าจะทำยังไงต่อไป เพื่อให้เบื้องหน้าลื่นไหลมากขึ้น แต่ก็ต้องมีสตินิดนึงในการแยกประสาทในการคุยทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
คลับเฮาส์กับพอดแคสต์ต่างกันยังไง?
- ตอนแรกคิดว่าคลับเฮาส์จะมาแย่งพอดแคสต์ เพราะจุดประสงค์ของทั้งคู่คือมาแย่งหูผู้ฟังเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงประเภทคนฟังมันต่างกัน หลายคนที่ชอบฟังคลับเฮาส์ ก็ไม่ได้ฟังพอดแคสต์ หรือคนที่ฟังพอดแคสต์ อาจจะไม่ได้ชอบฟังคลับเฮาส์ก็มี เรียกว่าแยกเป็นคนฟังสดกับฟังแห้ง (Pre-record) ความยากง่ายก็จะต่างกัน ตรงที่พอดแคสต์สามารถตัดต่อแก้ไขได้ อัดตอนไหนก็ได้เมื่อพร้อม
- แต่ในขณะที่คลับเฮาส์คือสด เมื่อเกิดอะไรขึ้นมาต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้ได้ แล้วถ้าสัญญากับผู้ฟังไว้แล้วว่าจะมากี่โมงก็ต้องเตรียมให้ทัน เพราะมันไม่สามารถเลื่อนได้
- ความยากอีกอย่างของคลับเฮาส์ คือ ในตอนที่มีคนยกมือถามก็คือสดทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นคนที่สามารถตอบได้ทุกคำถามต้องเป็นคนที่มีของพอสมควร เวลามีคนมาถามบางคำถามที่ตอบไม่ได้ ผมก็จะตอบว่าขอโทษด้วยจริงๆ อันนี้ไม่ทราบจริงๆ เพราะเราก็ต้องรับผิดชอบในคำตอบของตัวเอง
- แต่มันก็มีความสนุกเพราะได้มี interact กับคน ส่วนตัวชอบคลับเฮาส์มากกว่า เพราะเราได้เห็นหน้าผู้ฟัง บางทีจำผู้ฟังที่เข้ามาฟังบ่อยๆ ได้ ทำให้รู้สึกดีเวลาเห็น แต่พอเป็นพอดแคสต์มันมีแค่ตัวเลขคนฟัง แต่เราจะไม่รู้จักคนฟังจริงๆไม่เห็นว่าเป็นคนเดิมมาฟังมั้ย
มีการจัดการ Moderator หรือ สปีกเกอร์ยังไง?
- ส่วนใหญ่ก่อนจัดรายการทุกครั้งจะเขียนสคริปต์ ต้องมีบูลเล็ตพอยต์ ที่มี 5 คำถามเป็นไกด์ไลน์ ถ้ามี Moderator มากกว่า 1 คน ก็โน้ตไว้เลยว่าใครจะถามคำถามไหน หรือถ้ามีสปีกเกอร์มากกว่า 1 คนก็โน้ตว่าคำถามนี้จะถามใคร แบ่งคนถาม และคนตอบชัดเจน ไม่อย่างนั้นจะเกิดความงง และอาจจะเดดแอร์ได้ ต้องมีการรัน session กันตลอดเวลาที่จัด 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้ให้การจัดไหลลื่น ต้องเตรียมตัวก่อนล่วงหน้าประมาณ 1-2 ชั่วโมง
- หรือถ้าไปช่วยเป็นสปีกเกอร์ให้ห้องอื่น เราก็จะถามโทนก่อนว่าเป็นยังไง สามารถพูดหรือเล่นได้มากแค่ไหน
ทริกในการแทรกสปีกเกอร์ในยามจำเป็น?
- เวลาสปีกเกอร์พูดอยู่จะแทรกยาก เนื่องจากมันจะเป็นเรื่องของจังหวะและมารยาท แต่ก็มีหลายคนที่ค่อนข้างโปรจนกล้าที่จะแทรก เมื่อจำเป็น เช่น ตอนสปีกเกอร์พูดออกนอกประเด็น หรือเกินเวลา ซึ่งตอนนี้ผมเองก็ยังทำไม่ได้ และเป็นสกิลที่ผมก็พยายามฝึกอยู่เหมือนกัน
การจัดการผู้ฟังในห้อง?
- ถ้าอยากให้คนยกมือ ต้องดูไวบ์ของห้อง ผมมี 2 ทริกหลัก จะเล่นเป็นเกม
- ใครชอบให้ยกมือ ก็จะเห็นฟีดแบ็ก
- บอกผู้ฟังว่าถ้าใครยกมือขึ้นมาถาม ผมจะติดตามเขา เพื่อที่เขาจะได้เป็นนักเรียนหน้าห้อง (ขึ้นใน Followed by speakers) ก็นับเป็นทริกน่ารักๆ ให้บางคนที่ไม่กล้ายกมือ
อุปกรณ์ในการจัดคลับเฮาส์?
- แบบ Full Stream : ไมโครโฟน 1 ตัว ยี่ห้ออะไรก็ได้ เพราะไม่ค่อยต่างกัน ผมใช้ SHURE MV7 ราคาสูงนิดนึง (ราคาประมาณ 7,900 บาท) ก่อนหน้านี้ใช้ Audio-Technica (ราคาประมาณ 3,400 บาท) เสียบได้ทั้ง USB และ XLR สองตัวนี้คุณภาพเสียงพอๆ กัน แต่ต่างกันที่รูปลักษณ์
- RODECaster Pro Mixer สำหรับอัดพอดแคสต์ เสียบไมโครโฟนได้ 4 ช่อง เสียบโทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ได้ สามารถต่อเสียงจากคอมหรือไอแพดผ่านบลูธูธได้ มีปุ่มสีๆ ไว้กดเอฟเฟกต์ได้ เครื่องเดียวจบ (ราคาประมาณ 24,500 บาท) เดิมทีซื้อ mixer มาไว้จัดพอดแคสต์อยู่แล้ว พอมีคลับเฮาส์เลยเอามาใช้ เอาไอแพดต่อผ่านบลูธูธแล้วใช้ไอแพดเปิดเพลง และใช้คอมต่อเพื่ออัดเสียง ผ่านโปรแกรม Adobe Audition
- หลักๆ ก็จะมีไมโครโฟน คอมพิวเตอร์ ไอแพด โน้ต สปอติฟายไว้เปิดเพลง และสายไฟ ซึ่งบางคนอาจผิดพลาดตรงสายไฟแบบผม คือตัวสายที่เสียบกับไอโฟนต้องเป็นหัวที่มี RRS ทั้ง 2 ด้าน แต่หูฟังทั่วไปไม่มี
- ถ้าฟังดูแล้วดูยุ่งยาก คิดว่าอะไรที่ทำแล้วยุ่งแล้วจะทำให้ทำได้ไม่บ่อย ไม่ยั่งยืน ก็แนะนำว่าถ้าใครอยากจัดสนุกๆ ก็ไม่ต้องใช้อะไรอลังการครบเซ็ตขนาดนี้ก็ได้ จริงๆ มันก็แค่อุปกรณ์ เพราะหลักๆ คนก็โฟกัสที่คอนเทนต์ และวิธีการส่งสารของเรา ต่อให้มีเอฟเฟกต์แต่เล่นไม่ถูกจังหวะก็ไม่ได้ผลอยู่ดี อุปกรณ์ช่วยให้คุณภาพเสียงดีขึ้นก็จริง แต่ถ้าอุปกรณ์เยอะไปบางทีก็จะทำให้จัดได้ไม่บ่อย
- เทียบกับคลับเฮาส์พอดแคสต์จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์มากกว่า เพราะต้องไม่ให้มีเสียงรบกวนตอนอัด คุณภาพเสียงต้องดี มีการตัดต่อแก้ไข และผู้ฟังก็ตั้งใจฟังพอดแคสต์มากกว่า เพราะฉะนั้นเสียงที่ออกมาควรจะมีคุณภาพ และไม่มีเสียงรบกวน
การตั้งชื่อห้องที่จำกัดตัวอักษร?
- ปรับให้สั้นตามที่เขาต้องการ ผมคิดเยอะเวลาตั้งชื่อเหมือนเวลาเขียนบทความ เพราะคนจะเลือกอ่านจากชื่อหัวข้อ แต่คนเขียนส่วนใหญ่จะไปโฟกัสที่การเขียนบทความแทน บางทีเขียนบทความ 3 ชั่วโมง คิดชื่อหัวข้อ 3 นาที แต่คนอ่านโฟกัสหัวข้อมากกว่า เหมือนกันกับคลับเฮาส์ แล้วจะทำยังไงให้น่าสนใจ? ผมแบ่งออกเป็น 3 แบบ
- มีบางอย่างเป็นซิกเนเจอร์ : อย่างแรกคือรูปภาพ อย่างผมมีรายการที่ทำเป็นประจำ Morning Call ตอน 9 โมงเช้า ก็เอาอีโมจิรูปนาฬิกา 9 โมงมาใส่ คนอาจจะจำได้ เพราะทุกครั้งที่เปิดห้องจะใช้อันเดิมตลอด
- เขียนชื่อรายการ : ยิ่งถ้าเป็นรายการประจำยิ่งควรตั้งชื่อรายการไปเลย อาจจะเปลืองเนื้อที่ เปลืองเวลาคนอ่าน แต่ข้อดีคือทำให้เกิดการ register เวลาที่ผู้ฟังเห็นชื่อรายการซ้ำๆ จนจำได้ ก็อาจทำให้กลายเป็นชอบแบรนด์ จนอาจไม่สนใจว่าวันนี้จัดหัวข้ออะไร แต่เข้ามาฟังเพราะชอบที่ตัวรายการแทน
- ตัวชื่อหัวข้อจริงๆ : สำคัญมาก เพราะชื่อหัวข้อควรต้องบอกอะไรบางอย่างกับผู้ฟังว่าจะได้อะไรจากห้องนี้ ถ้าผู้ฟังไม่รู้ว่าจะได้อะไรเขาก็จะไม่เข้ามาฟัง เพราะคิดว่าเสียเวลา
- คลับเฮาส์เหมือนการเดินในงานสัมมนาที่คนเลือกเดินเข้าห้องได้ ซึ่งบางทีคนอาจเข้ามากลางคันที่งานอาจเริ่มไปแล้วเลยยากที่จะตามทัน หัวข้อเลยสำคัญ เพราะจะเป็นตัวบอกให้รู้ว่าในห้องจะพูดเกี่ยวกับประเด็นอะไร และให้ผู้ฟังตัดสินใจได้ว่าจะอยู่ฟังต่อมั้ย
จัดการกับแบรนด์ หรือสปอนเซอร์ยังไง?
- ต้องมีการตั้งความคาดหวังให้เข้าใจตรงกันก่อน ก่อนอื่นต้องดูว่าเราเหมาะกับลูกค้ามั้ย ดูว่าแบรนด์อยากได้อะไร เหมาะในที่นี้คือต้องจริงใจ ไม่ยัดเยียด พอรู้ว่าเหมาะก็ไปคุยกับแบรนด์ว่าต้องการอะไร เช่น อยากให้เกิดยอดขาย หรือสร้าง awareness ซึ่งบนคลับเฮาส์จะเน้นสร้าง awareness ได้ง่ายกว่า
- การทำ Call-to-action บนคลับเฮาส์ยาก และต้องใช้ความตั้งใจในการฟังนิดนึง อย่างห้องที่เป็นแบรนด์มันมีการสื่อสาร มีความจริงใจบางอย่างที่แบรนด์ใช้ในการเล่าเรื่อง ซึ่งมันก็สร้างความรู้สึกอยากซื้อ อยากเข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้นผ่านการฟัง และการเล่าของแบรนด์
คำแนะนำสำหรับแบรนด์ในการเข้ามาในทำการตลาดบนคลับเฮาส์?
- ให้ใช้คลับเฮาส์เป็นเครื่องมือในการทำการตลาด เพราะมันก็เป็นเครื่องมือที่ไม่ต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างพอดแคสต์ หรือยูทูบ เป็นต้น แต่มี 3 สิ่งสำคัญที่แบรนด์ควรต้องคำนึง คือ
- ผู้ฟัง : รู้ว่าใครเป็นคนฟัง และคนฟังคาดหวังอะไร โดยการ monitor หรือ survey สังเกตคนในคลับเฮาส์ ลองทำคอนเทนต์หยั่งเชิงเพื่อวัดผลเรื่อยๆ
- ตัวเอง : รู้ว่าแบรนด์เรายืนหยัดเพื่ออะไร ต้องการจะสื่ออะไร แล้วดูว่าแมทช์กับคนในคลับเฮาส์มั้ย
- คอนเทนต์ : เป็นตัวเชื่อมคนฟังกับแบรนด์ เมื่อเข้าใจผู้ฟัง เข้าใจตัวเองแล้ว ก็หาแนวทางเพื่อผลิตออกมาเป็นคอนเทนต์
ช่วง Q&A
จัดเวลายังไงให้สามารถทำได้สม่ำเสมอ?
- ต้องบอกก่อนว่า Creative Talk Conferrence เป็นการจัดที่ไม่ได้กำไร บางรอบขาดทุนด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเงินไม่ใช่ตัวผลักดันในการจัดงานสัมมนา แต่ความสม่ำเสมอคือหัวใจ ที่ผมโฟกัสที่ 4 อย่างต่อไปนี้
- ทำแล้วต้องสนุก ไม่งั้นไม่มีพลัง ถ้าทำแล้วเบื่อ คนฟังจะดูออกว่างานนี้ไม่ม่ีพลัง
- มีทีม support ที่มีความรู้ ความสามารถ ที่ไว้ใจพึ่งพาได้
- ต้องไม่เหนื่อยจนเกินไป ถ้าการจัดแต่ละครั้งจะต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์เยอะ อาจทำให้เหนื่อย และทำให้ทำได้ไม่สม่ำเสมอ
- หากำลังใจให้ตัวเอง คิดว่าเราทำให้ใคร และคนเหล่านั้นได้ในสิ่งที่เราให้มั้ย เวลามีใครทักมาชมก็เก็บข้อความนั้นไว้ วันไหนท้อก็มาเปิดดูเป็นกำลังใจ
จุดแข็งของคลับเฮาส์ที่ชนะงาน Conferrence?
- คลับเฮาส์ คือ งานสัมมนาบนมือถือ ถ้าถามว่าจะมา disterrupt งาน on ground มั้ย ช่วงแรกก็มีโอกาสมา replace แต่พอเวลาผ่านไปบนคลับเฮาส์เองก็มีสปีกเกอร์และ session น้อยลง เลยอาจจะมาแทนที่ได้แค่ส่วนหนึ่ง ผู้ฟังก็มาเสพความรู้ผ่านทางนี้แทนการไปงานสัมมนาจริงๆ
- แต่ข้อดีของงานสัมมนา คือ การได้เจอตัวเป็นๆ ได้สัมผัสประสบการณ์จริงที่มีการ interact กัน แต่อนาคตคนก็จะเลือกอยู่กับคลับเฮาส์ หรือยูทูบมากกว่าไปงานสัมมนาแน่นอน แต่คนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่คนจัดงานสัมมนา แต่กลายเป็น organizer มากกว่า
จัดการผู้ฟังที่ยกมือขึ้นมาป่วนห้องยังไง?
- ผมยังไม่เคยเจอ แต่ถ้าเจอก็ให้กดเอาลง ต้องดูเลเวลความป่วน เช่น ถ้าหยาบคาย ในฐานะ Moderator ก็ให้เอาลงเลย แต่ถ้าเขามาลองคำถามบางอย่างเพื่อหยั่งเชิง ก็อาจลองใช้ทักษะการดีล คุยให้ได้ ที่ผมตอบอาจไม่ใช่คำตอบที่ดี เพราะยังไม่เคยเจอ
ดู stat บนคลับเฮาส์ที่ไหน?
- clubhub.site ดูสถิติของห้อง Top User, Top Room เป็นเว็บไซต์ที่แนะนำสำหรับคนจัดห้อง เพราะเราจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของห้องเป็นกราฟเลย
คิดว่าคลับเฮาส์เป็นช่องทางสำหรับครีเอเตอร์ได้มากน้อยแค่ไหน?
- ทุกแพลตฟอร์มมี culture เป็นของตัวเอง แต่คับเฮาส์จะต่างกับแพลตฟอร์มอื่น คือ เป็นที่ให้คนมาแชร์ไอเดีย แบ่งปันมากกว่า และเนื้อหาส่วนหนึ่งค่อนข้างมีสาระ เพราะแบบนี้เลยทำให้คนรู้สึกอยากกระโดดเข้ามาเพื่อหาความรู้ เหมือนมันก็คัดกรองคนในระดับนึงว่าคนที่เข้ามาเป็น Active learner ที่ให้คุณค่ากับคอนเทนต์ และเขายินดีที่จะจ่ายให้กับคอนเทนค์ที่มีคุณค่า
- ถ้าคลับเฮาส์เก็บเงิน เชื่อว่าจะมีคนยอมจ่ายถ้าคอนเทนต์ดีพอ สิ่งที่น่าสนใจคือถ้าสปีกเกอร์ดีจริง ครีเอเตอร์จะสามารถสร้างรายได้ได้เยอะ โดยที่ไม่ต้องเก็บเงินผู้ฟังแพงเลยก็ได้ แต่เน้นจำนวนผู้ฟังแทน อุปกรณ์ก็ไม่ลงทุนเยอะมาก คนฟังก็ไม่ต้องจ่ายเยอะ ซึ่งอนาคตเป็นยังไงไม่รู้ แต่น่าจับตาดูแน่นอน
และนี่ก็เป็นเทคนิคการจัดคลับเฮาส์ที่คุณเก่ง Creative Talk มาแชร์ให้ทุกคนฟังแบบหมดเปลือก จนเรียกได้ว่าฟังเสร็จสามารถนำไปปรับใช้กับการจัดห้องบนคลับเฮาส์ได้อย่างไม่ติดขัดเลยก็ว่าได้
อย่าลืมติดตาม iCreator Clubhouse ทุกวันอังคาร และวันพฤหัส เวลา 21.00 – 22.00. น. สัปดาห์หน้าแขกรับเชิญจะเป็นใคร มาคุยในหัวข้ออะไร รอติดตามกันได้นะคะ!